Picture
      โรคพิษสุนัขบ้า "โรคกลัวน้ำ" หรือ "โรคหมาว้อ" (ในภาษาอีสาน) เป็นโรคติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก Rabies Virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก กระแต เสือ หมี หนู ค้างคาว รวมถึงคนด้วย ซึ่งในประเทศไทยพบมากที่สุดในสุนัข (96% ของจำนวนที่พบเชื้อจากการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ) รองลงมา คือ แมว  ดังนั้น "หากถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่สุนัขกัดก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน"

     เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรค กัด ข่วน เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ซึ่งเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในบริเวณแผลที่ถูกกัด หลังจากนั้นเชื้อจะเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง และหากเชื้อเข้าสู่สมองแล้วก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก ซึ่งอันตรายมาก

อาการผู้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
     ผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย และหากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังแล้วมีการเพิ่มจำนวนจะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด ระยะฟักตัวหลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายไปจนเกิดอาการ ใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ หรืออาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางอย่าง เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของแผล และระยะทางจากแผลไปยังสมอง เช่น แผลที่หน้า ศีรษะ คอ หรือมือ อีกทั้งลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม และ การล้างแผลก็จะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก 

วิธีสังเกตอาการ
     เราควรสังเกตอาการ ทั้งสุนัขและรวมไปถึงอาการของคนที่ถูกกัดด้วย เพื่อที่จะทำการรักษาได้ทัน เพราะมีหลายกรณีที่เราไม่ได้สังเกตว่าสุนัขของเราเริ่มมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าทำให้ไม่สามารถดำเนินการป้องกันรักษาได้ทัน ดังนั้นการสังเกตอาการจึงสำคัญมากครับ
อาการที่พบในสุนัข

     ระยะฟักตัวของโรคหลังจากถูกกัดหรือขีดข่วน จะอยู่ในช่วง 3-8 สัปดาห์ ไม่เกิน 6 เดือน และเมื่อเริ่มแสดงอาการแล้วจะตายภายใน 10 วัน ซึ่งอาการก็มีทั้งแบบดุร้าย และแบบซึม โดยจะแบ่งเป็น 3 ระยะ
   ระยะเริ่มแรก
   สุนัขจะมีอารมณ์และนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม
   
   ระยะตื่นเต้น
   สุนัขเริ่มมีอาการทางประสาท กระวนกระวาย ตื่นเต้น หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง  กัดแทะสิ่งของไม่เลือก ม่านตาขยายกว้าง

   ระยะอัมพาต
   สุนัขมีอาการหางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหล ขย้อนอาหารคล้ายมีอะไรติดอยู่ในลำคอ ขาอ่อนเปลี้ย ทรงตัวไม่ได้ ล้มลงอัมพาตทั้งตัวอย่างรวดเร็วและตายในที่สุด

อาการที่พบในคน

     ส่วนใหญ่ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ตั้งแต่ 3 สัปดาห์ - 6 เดือน แต่บางรายมีระยะฟักตัวสั้นมากไม่ถึงสัปดาห์ หรือบางรายอาจนานเกิน 1 ปี อาการเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัดแล้วลามไปส่วนอื่น กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อย และขากล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจ ชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด
หากถูกสุนัขกัด หรือข่วน ต้องทำอย่างไร ?

   1.  ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ เช็ดแผลให้แห้งและใส่ยารักษาแผลสด
   2.  จดจำสัตว์ที่กัดหรือข่วนให้ได้ เพื่อสืบหาเจ้าของ จากนั้นสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
   3.  ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดทันที หรือ เร็วที่สุด เพื่อรับการฉีดป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ และยาแก้ปวดตามอาการ

การป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า

     ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ การรักษาจึงทำได้เพียงการดูแล ประคับประคอง และรักษาตามอาการเท่าที่จะทำได้เท่านั้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำก็คือ การป้องกันนั่นเองครับ

     ทางที่ดีที่สุดคือ ระวังอย่าให้ถูกสุนัข หรือแมวกัด หรือ ข่วน และที่สำคัญที่สุดคือการนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หลายคนมีความเข้าใจผิดว่า การฉีดวัคซันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข ฉีดเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอ จะสร้างภูมิให้สุนัขได้ตลอดไป แต่นั้นเป็นความเชื่อที่ผิดมากๆ ข้อเท็จจริงคือ เมื่อสุนัขอายุได้ 3 เดือนเราควรพาลูกสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และสำคัญที่สุด วัคซีน นี้ ต้องฉีดซ้ำ ปีละครั้ง ไม่เช่นนั้น จะไม่ได้ผลนะครับ ห้ามลืมเด็ดขาด
เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นอย่างไร ?

      เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นเซรุ่มส่วนของน้ำใสของเลือดที่ได้จากม้าหรือคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ในเซรุ่มจะมีโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในปริมาณที่มาก เซรุ่มจะไปทำลายเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด โดยการฉีดรอบ ๆ แผลก่อนที่จะก่อโรค และก่อนที่ภูมิต้านทานของร่างกายจะสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้การให้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับการฉีดวัคซีนเข็มแรก จึงเป็นวิธีที่จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ผลดีที่สุด 

     แต่เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีราคาแพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำมาจากเลือดคน ดังนั้นสถานเสาวภาจึงได้ดำเนินการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดม้าและศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดคน เพื่อใช้เองภายในประเทศ โดยขอรับบริจาคโลหิตจากบุคคลทั่วไป

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า

     เพื่อนๆสามารถฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า โดยการฉีดเพียง 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ไม่จำกัดอายุ ดังนั้นการฉีดวัคซีนชนิดนี้จึงเหมาะสมกับเด็กที่มักเล่นกับสัตว์และมีโอกาสถูกสัตว์กัด ซึ่งมักมีบาดแผลที่รุนแรง บริเวณใบหน้า ศีรษะ หรือถูกเลียมือที่มีแผลหรือที่ปาก โดยไม่บอกให้ผู้ปกครองทราบ หรือควรฉีดป้องกันในบุคคลทั่วไปที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว เป็นต้น
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า

     การฉีดวัคซีน จะต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ในวันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้นอีก 1 ปีอาจฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน (หมายเหตุ : วันที่ 0 หมายถึง วันที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก)
      1. เมื่อถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล

      2. ไม่เสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม หรือเจ็บปวดจากการฉีดเซรุ่มรอบ ๆ แผล

     กรณีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้า หากเราถูกสุนัขกัด ควรรีบล้างน้ำแล้วรีบไปพบแพทย์ แพทย์จะพิจารณาอาการ ลักษณะแผล คนไข้และสัตว์ที่กัด และอาจจะทำการฉีดวัคซีนแบบหลังการสัมผัสอีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนคือ ผู้ถูกกัดต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือฉีดวัคซีนฯ ร่วมกับอิมมูโนโกลบุลิน (กรณีที่บาดแผลลึก หรือแผลใหญ่ หรือหลายแผล หรือบาดแผลอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ เช่น ในหน้า ลำคอ) โดยเร็ว ซึ่งผู้ถูกกัดต้องมาฉีดให้ตรงตามกำหนดนัดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 เข็มแรก ถ้าเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อตามแบบมาตรฐานจะต้องฉีด 5  เข็ม ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 30 ของการถูกกัด ที่สำคัญที่สุดคือควรไปพบแพทย์ อย่าคิดว่าจะปล่อยให้หายเองเพราะอันตรายมากครับ

(วันที่ 0 หมายถึงวันที่ถูกสัตว์กัด เมื่อมีผู้ถูกสัตว์ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน)

ความน่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้า

     กรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่ากลัวของโรคพิษสุนัขบ้าว่า โดยเฉลี่ยแต่ละปี มีคนไทยถูกสุนัขกัดปีละประมาณ 1 ล้านราย ผู้ที่ถูกสุนัขกัดส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-9 ขวบ แต่ในจำนวนผู้ที่ถูกสุนัขกัด 1 ล้านราย ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละประมาณ 5 แสนราย หรือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าคนที่ถูกสุนัขจรจัดกัด ส่วนใหญ่มักจะกลัว จึงรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าไว้ก่อน แต่คนที่ถูกสุนัขมีเจ้าของกัด มักจะคิดว่าเป็นสุนัขมีเจ้าของคอยดูแลจึงชะล่าใจ และกลายเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุด

      นอกจากนี้ในจำนวนคนที่ถูกหมาบ้ากัดตายทั้ง 14 ราย เป็นที่น่าสังเกตว่า 9 ตัวที่กัดคนตายเป็นหมาใหญ่ อีก 5 ตัว ที่เหลือเป็น ลูกหมา ซึ่งมีเชื้อพิษสุนัขบ้าอยู่ จากจุดนี้ชี้ ให้เห็นว่า ผู้ที่ถูกลูกสุนัขกัดส่วนใหญ่มักจะประมาทคิดว่า ลูกสุนัขคงไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่หารู้ไม่ว่าลูกสุนัขตัวเล็กๆก็อาจติดเชื้อได้จากแม่สุนัขโดยการเลียปากและจมูกลูกสุนัขนั่นเอง
 
   ดังนั้น ทางกรมควบคุมโรคจึงฝากคำเตือน 5 อย่า เพื่อให้ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้ครับ
 1. อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห 
 2. อย่าเผลอไปเหยียบให้สุนัขเจ็บ 
 3. อย่าแยกเวลาหมากัดกัน เพราะอาจถูกลูกหลง วิธีที่ถูกให้ใช้น้ำฉีดเข้าปากสุนัข ไม่ควรใช้น้ำร้อนสาด 
 4. อย่าหยิบขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร เพราะมันอาจคิดว่าถูกแย่ง และ
 5. อย่ายุ่งกับสุนัขแปลกหน้า

      และในวันที่ 28 กันยายน เป็น "วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก" ทาง กทม. กรมปศุสัตว์ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ตลอดเดือนนี้ 

 
      ในปัจจุบันเจ้าของสัตว์เป็นจำนวนมากเริ่มมีความสงสัยว่าเหตุใดสุนัขและแมวจึงมีแนวโน้มเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น เกิดอะไรกับสัตว์เลี้ยงของเรา  โรคไตอาจเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงด้วยกัน เช่น อายุมาก ชนิดของสายพันธุ์สัตว์ที่มีแนวโน้มการเกิดความผิดปกติของไตตั้งแต่กำเนิด เช่น ชิสุ ชเนาส์เซอร์ รวมถึงพฤติกรรมตัวสัตว์เองที่ เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น กินน้ำน้อย หรือชอบเลียกินน้ำไม่เลือกที่ เช่น ตามพื้นที่มีสารเคมี น้ำในกระถาง ต้นไม้ที่ใส่ปุ๋ย หรืออาศัยในบริเวณที่ใช้ยาฆ่าแมลง และสารที่เป็นพิษต่อไต เป็นต้น

     “ไต” เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายสิ่งมีชีวิตทั้งในคนและสัตว์ แน่นอนว่ารวมถึงสุนัขและแมวด้วย เนื่องจากไต มีหน้าที่หลายอย่าง มีกลไกการทำงานที่สลับซับซ้อน และยังทำงานร่วมกับระบบอื่นๆ เช่น ระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบหายใจ
          โดยไตจะทำหน้าที่รักษาสมดุลต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งไตมีหน้าที่หลักในการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นและน้ำ กลับเข้าร่างกาย กรองสารพิษหรือสารที่เป็นส่วนเกินของร่างกายออกไป การดูดซึมน้ำกลับเข้าร่างกายทำให้สารที่ต้องการขับออกมีความเข้มข้นมากขึ้น หากร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือไม่สมดุล จะทำให้ “ไต” ต้องทำงานหนักมากขึ้น รับสารพิษต่างๆ ที่ต้องผ่านไตมากขึ้น มีโอกาสทำให้ไตเกิดการเสื่อมเร็วกว่าปกติ และมีผลทำให้เสียชีวิตเนื่องจาก “ภาวะไตวาย” ได้ และหน้าที่อีกอย่างของไต คือ ทำหน้าที่ผลิต “ฮอร์โมน” ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการสร้างเม็ดเลือด
 
       วิธีการสังเกตสุนัขว่าอาจจะเป็นแนวโน้มเป็นโรคไต
    “โรคไต” เป็นโรคที่ทำการวินิจฉัยได้ยาก เมื่อดูจากอาการภายนอกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไตมักสูญเสียการทำงานมากกว่า 75 % แล้วจึงจะแสดงอาการต่างๆ ออกมา นอกจากนั้นยังมีความกี่ยวข้องกับอวัยวะอีกหลายระบบ อาจทำให้มีอาการที่แสดงออกมาหลากหลายได้ ซึ่งสังเกตได้ ดังนี้
  • กระหายน้ำมากขึ้น และปัสสาวะมากขึ้น
  • ความอยากอาหารลดลง
  • น้ำหนักลด
  • เชื่องช้า และใช้เวลาในการนอนมากขึ้น
  • มีกลื่นปากเหม็น
  • ร่างกายอ่อนแอ
  • เป็นแผลในช่องปาก อาเจียน และท้องเสีย

       ความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เช่น มีก้อนนิ่วอุดตันในท่อปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไม่ออก เกิดการคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน มีผลทำให้สารพิษที่ควรขับออกไปพร้อมกับปัสสาวะเกิดการดูดซึมกลับขึ้นไปทำลายไต หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างก็มีโอกาสทำให้เชื้อโรคกระจายขึ้นไปยังส่วนไตได้     

       ภาวะแทรกซ้อนของโรคไต
   เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นโรคไตภาวะเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดเลยก็ได้ ภาวะที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้
  • ภาวะร่างกายเป็นกรดมากกว่าปกติ ไตทำหน้าที่ปรับสมดุลความเป็นกรด- ด่างให้ร่างกาย เมื่อไต เกิดความเสียหาย ความสามารถในการขับกรดทิ้งจะลดลง เมื่อกรดในเลือดสูงขึ้น สัตว์จะซึม เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียน และอาจทำให้สัตว์ถึงกับชีวิตได้
  • ภาวะความดันโลหิตสูง มักจะแตกต่างจากในคนที่ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง สาเหตุมักเกิดจาก ภาวะคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย รวมทั้งภาวะที่ไตถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมน angiotensin ออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้มีความดันเลือดสูงขึ้น หากปล่อยภาวะนี้ไว้นานๆ ไตเสียหายเร็วขึ้น หาก ความดันโลหิตสูงมากๆ จะทำให้เกิดเลือดออกในจอตา สัตว์ อาจตาบอดได้ ในที่สุด
  • ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากไตทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน erythropoietin ไปกระตุ้นไขกระดูกให้ สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเป็นโรคไต ฮอร์โมนจะถูกสร้างลดลง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
  • ภาวะกระดูกพรุน เกิดจากการคั่งของ ฟอสฟอรัส ในเลือด เนื่องจากไตขับทิ้งไม่ได้  เพื่อรักษาความสมดุลของ แคลเซียม และฟอสฟอรัสในร่างกาย จึงไปดึงเอาแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมในเลือด จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน
  • ภาวะของเสียคั่งในเลือด หรือที่เรียกว่า “ยูเรีย” ของเสียเหล่านี้มีความเป็นกรดสูง จึงไปรบกวนระบบเมตาบอลิซึม ต่างๆ ของร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดภาวะอาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นเลือดสีดำ และถ้าเกิดการคั่งมากๆ จะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทจนทำให้เกิดอาการชัก ภาวะนี้เราเรียกว่า “uremia” เมื่อสัตว์เกิดภาวะนี้ขึ้น จำเป็นที่จะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
 
     การรักษาโรคไต
          การรักษาโรคไตวายเรื้อรังนั้นสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่เนื่องจากมีข้อจำกัด ค่อนข้างมาก ต้องหาผู้บริจาคเนื้อเยื่อไตที่สามารถเข้ากันได้ ค่าใช้จ่ายสูง ในเมืองไทยยังไม่ได้นำวิธีนี้เข้ามา ใช้ในการรักษา เนื่องจากการผ่าตัดมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ในแมวมักได้ผลดีกว่าสุนัข
          ดังนั้น โดยทั่วไปการรักษาไตวายเรื้อรัง มักรักษาตามอาการเป็นหลักและสามารถช่วยยืดชีวิตได้นาน
นับเป็นเดือนหรือปี
          ต่างจากในรายที่เป็นภาวะไตวายเฉียบพลัน จะรุนแรงมากกว่าถ้าไม่สามารถแก้ไขอย่างทันเวลา การรักษาสามารถทำการฟอกไต เช่นเดียวกับในมนุษย์  แต่มีข้อจำกัดที่การฟอกไตสำหรับสัตว์ในเมืองไทย จะใช้กับสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 10 กิโลกรัม ไม่นิยมใช้ในแมว หรือสุนัขที่มีน้ำหนักตัวน้อยๆ และใช้รักษาเฉพาะภาวะไตวายเฉียบพลัน มากกว่าเรื้อรัง
          ดังนั้นการวินิจฉัยที่รวดเร็ว การรักษา และการพยากรณ์โรคที่ดีจะสามารถช่วยชะลอการพัฒนาของโรค และช่วยยืดอายุของสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข
 
     ข้อควรจำ อาการเตือนอย่างแรกของการเกิดไตวาย  คือ ความกระหายน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงของคุณดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือสังเกตเห็นอาการต่างๆ ที่กล่าวไว้ ควรรีบพาสุนัขของคุณไปพบแพทย์ทันที 
 
Picture
สัญญาณเตือนภัย โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง

          "หัวใจ" ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกายของสัตว์เลี้ยง เพราะหากหัวใจหยุดทำงาน ทุกชีวิตต้องตาย หน้าที่สำคัญของหัวใจคือ สูบฉีดเลือดเพื่อนำออกซิเจนสารอาหารต่าง ๆ ผ่านทางหลอดเลือดไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ความผิดปกติที่เกิดกับหัวใจ ส่วนใหญ่มักจะทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง

          โรคหัวใจที่พบในสัตว์เลี้ยงสามารถพบได้เช่นเดียวกับในคน คือสามารถพบได้ตั้งแต่เกิด (พบน้อย) หรือพบภายหลังตามมา ซึ่งโดยทั่วไปมักพบว่าโรคหัวใจมีการพัฒนาขึ้นในช่วงกลางชีวิต โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired Heart Disease) เป็นลักษณะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอายุมาก

          โรคหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ และความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจ สัตว์เลี้ยงที่ป่วยด้วยโรคหัวใจสามารถควบคุมอาการของโรคได้ ด้วยการให้อาหารที่ถูกต้องการออกกำลังกาย และการใช้ยาโรคหัวใจ ด้วยการเลือกใช้อาหารที่ถูกต้องร่วมกับคำแนะนำของสัตวแพทย์ จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุขภาพแข็งแรง

       โรคหัวใจแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ๆ

       1. โรคลิ้นหัวใจรั่ว
          "โรคลิ้นหัวใจรั่ว" เป็นความผิดปกติที่ลิ้นหัวใจ โดยมีการปิดไม่ดี ทำให้มีการรั่วไหลย้อนของเลือด ส่งผลทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในสุนัข

       2. โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ
          อาการผิดปกตินี้จะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการหนาตัว (ซึ่งพบบ่อยในแมว) หรือที่เรียกว่า Hypertrophic Cardiomyopathy (HCM) หรือความผิดปกติกล้ามเนื้อหัวใจอีกชนิด คือผนังกล้ามเนื้อหัวใจบางกว่าปกติและมีความอ่อนแอ ที่เรียกว่า Dilated Cardiomyopathy (DCM) มีผลให้การบีบตัวของหัวใจลดลง (ซึ่งกรณีนี้มักพบในสุนัข) ในสุนัขหรือแมวจะเป็นตรงกันข้ามกัน

          โรคหัวใจทั้งสองชนิด จะค่อยพัฒนาขึ้นโดยใช้ระยะเวลา แต่ผลในที่สุดคือ ก่อให้เกิดภาวะที่มีความรุนแรงต่อการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า "หัวใจล้มเหลว" (Heart Failure) เกิดหัวใจวายและเสียชีวิตในที่สุด

          นอกจากโรคหัวใจ 2 ชนิดดังกล่าว อาจพบโรคหัวใจชนิดอื่น อีกได้แต่พบไม่บ่อยนักเช่นโรคพยาธิหนอนหัวใจมีพาหะมาจากยุงกัดพบได้ทั้งในสุนัขและแมว แต่ในปัจจุบันเจ้าของสัตว์เลี้ยง มีความเข้าใจ และป้องกันมากขึ้น ทำให้โอกาสพบน้อยลง หรือในแมวที่มักพบโรคหลอดเลือดอุดตันในแมว (Feline Aortic Thromboembolism) ทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันตามขา เกิดอัมพาตตามมา เกิดเนื้อตายที่กล้ามเนื้อขา ในที่สุดขาจะเป็นเนื้อตาย มีการติดเชื้อ เพราะเกิดจากการขาดออกซิเจนแต่มักเป็นผลตามมาจากโรคหัวใจในแมวอีกที เป็นต้น

       จะทราบได้อย่างไรว่า สัตว์เลี้ยงเป็นโรคหัวใจ
          อาการของโรคหัวใจนั้นบ่งบอกได้ยาก เพราะมักคล้ายคลึงกับความผิดปกติของโรคอื่น อาการค่อนข้างผันแปร หรือไม่แน่นอน อาจจะพบได้ตั้งแต่ประเภทที่ไม่สามารถสังเกตอาการได้ จนถึงสามารถสังเกตพบอาการได้ แต่ละอาการจะมีความเด่นชัด หรือมีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อการพัฒนาของโรคหัวใจมากขึ้น

       อาการโรคหัวใจที่พบได้ส่วนใหญ่ ได้แก่

            ซึม อ่อนเพลีย
            เป็นลมหมดสติ
            ออกกำลังได้น้อย เหนื่อยง่าย
            หายใจลำบาก
            ช่องท้องบวม
            ไอ
            เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
            ขาหลังเป็นอัมพาตบางส่วน (พบในแมว)

          ผู้ที่จะให้คำตอบที่ดีที่สุดว่าสุนัขหรือแมวเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ก็คือสัตวแพทย์ประจำตัวสัตว์เลี้ยงของท่าน โดยเฉพาะสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์ในด้านโรคหัวใจจะสามารถให้คำตอบที่แม่นยำได้ ดังนั้น การนำสัตว์เลี้ยงของทานไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจร่างกายโดยการฟังการเต้นของหัวใจจะสามารถบอกความผิดปกติของหัวใจในระยะเริ่มแรกได้ 

          นอกจากนี้การวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การเอ็กซเรย์ การตรวจอัลตราซาวนด์ด้วยคลื่นเสียง (Echocardiography) ก็สามารถชี้เฉพาะยืนยันได้แม่นยำและละเอียดมากขึ้น เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะทำให้ตรวจพบภาวะโรคหัวใจในระยะเริ่มต้นได้

          เมื่อนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ สัตวแพทย์อาจจะถามเจ้าของถึงอาการหรือข้อมูลที่จำเพาะเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของท่าน ก่อนที่จะทำการตรวจร่างกายสุนัข ถ้าสัตวแพทย์สงสัยว่ามีปัญหาทางสุขภาพหรือโรคหัวใจ อาจจะต้องมีการตรวจพิเศษเพื่อการวินิจฉัยโรคที่จำเพาะมากขึ้น เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ การถ่ายภาพรังสี ตรวจวัด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography) การตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ ด้วยคลื่นเสียง (Echocardiography) หรือตรวจวิธีการอื่นๆ ที่จำเป็นการตรวจร่างกายเป็นประจำ (ทุกปี) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้สามารถตรวจพบโรคหัวใจในระยะเริ่มต้นได้

       สาเหตุการเกิดของโรคหัวใจ
          โรคหัวใจมักไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว ปัญหาจากการกินอาหารไม่เหมาะสมสามารถเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้เช่นกัน นอกจากนี้ โรคอ้วน และการที่สัตว์มีน้ำหนักตัวมากเกินไปสามารถโน้มนำให้เกิดโรคได้ รวมถึง

      1. พันธุ์ของสัตว์เลี้ยง
          ในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น Poodle, Miniature Pinscher, Cavalier King Charles Spaniel มักพบปัญหาโรคสิ้นหัวใจรั่ว ขณะที่สุนัขพันธุ์ใหญ่ เช่น Dobermann Pinscher, Labrador Retriever, Great Dane และ Boxer มักเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ
          ส่วนในแมวสายพันธุ์ Persian, Maine Coon และ American Shorthair มักพบความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น

      2. อายุ
          ความถี่ของโรคหัวใจ มักเพิ่มมากขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น

     3. เพศ
          สัตว์เลี้ยงเพศผู้ มักพบเป็นโรคหัวใจมากกว่าเพศเมีย

        โรคหัวใจสามารถรักษาได้หรือไม่?

          โรคหัวใจของสุนัขและแมวอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แม้ว่าการรักษาด้วยวิธีการและเทคนิคสมัยใหม่ได้ถูกนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบัน หรือการใช้ยากินบางตัวที่ต้องกินไปตลอดชีวิตอาจสามารถช่วยยืดเวลานานออกไปได้ก็ตาม แม้ยาจะมีราคาแพงและไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่ความสำเร็จของการรักษาโรคหัวใจสุนัขขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ประการ ทั้งความร่วมมือที่ดีของเจ้าของสัตว์ และสัตวแพทย์ประจำที่สามารถตรวจพบปัญหาโรคหัวใจในระยะแรก ๆ ดูว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะเป็นการช่วยรักษาชีวิตสุนัขของท่านให้ยืนยาวต่อไปและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

          ดังนั้นการนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ถือเป็นสิ่งที่เจ้าของสัตว์ควรคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับ การตรวจเช็คสุขภาพของตัวคุณผู้เป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน

 
Picture
   เลือกสุนัขที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม

     ไม่ใช่สุนัขทุกตัวจะเหมาะสมกับเด็ก และไม่ใช่เด็กทุกคนจะเหมาะสมกับสุนัข ถ้าเด็กๆมีอายุต่ำกว่า 6 ปี คุณควรใช้เวลาพิจารณาสุนัขให้มากก่อนที่จะซื้อสุนัขตัวใหม่ สุนัขตัวใหญ่ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดุหรือใช้สำหรับต่อสู้ควรหลีกเลียงเอาไว้ เพราะสุนัขเหล่านั้นอาจทำร้ายเด็กๆได้ เช่นเดียวกับไม่ควรเลือกสุนัขที่เห่ามากเกินไปเช่นกัน

     สำหรับเด็กที่อายุ 7 ปีขึ้นไป เด็กบางคนเริ่มที่จะพัฒนาความผูกพันธ์ ความสัมพันธ์กับสุนัข เขาจะมีความสุขมากเมื่อได้อุ้มสุนัขของเขาครั้งแรก สุนัขสามารถสอนให้เขารู้จักภาระหน้าที่ มีความอดทนมากขึ้น มีอารมณ์ร่วมและมีความสงสาร แต่ไม่ใช่ว่าเด็กๆ จะมีความสามารถดูแลสุนัขของเขาได้อย่างสมบูรณ์ พ่อ-แม่ควรช่วยเขาดูแลด้วย

     การนำสุนัขเข้ามาในครอบครัวที่มีเด็กๆอยู่
     เมื่อคุณนำสุนัขเข้ามาในครอบครัวของคุณแล้ว คุณควรแน่ใจว่ามันมีเวลาพอที่จะปรับตัวก่อนที่จะถูกเด็กๆนำไปเล่น ควรมีกฏสำหรับเด็กๆ ซึ่งเป็นกฏที่แสดงถึงความห่วงใย ความกังวลในสุนัขตัวใหม่ และคุณควรตัดสินใจเรื่องที่กินและที่นอนของสุนัข ควรมีเตียงสำหรับสุนัขเอง ไม่ควรให้นอนกับเด็กๆ สิ่งสำคัญคือ คุณควรสอนวิธีการดูแลสุนัขให้กับเด็กๆด้วย รวมทั้งคุณก็ต้องฝึกสุนัขเช่นกัน ควรให้เวลากับพวกเขาก่อนที่จะเกิดอุปนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ในอนาคต

     การนำเด็กเข้ามาในครอบครัวที่มีสุนัขอยู่
     ส่วนมากมักเกิดความกังวลกันว่า สุนัขจะปฏิบัติตัวเช่นไรเมื่อมีเด็กๆเข้ามาอยู่ในบ้าน พ่อ-แม่ส่วนมากมักห่วงความปลอดภัยของเด็กๆ ส่วนมากสุนัขจะเชื่องกับเด็กที่เข้ามาใหม่และไม่ค่อยจะสนใจเด็กเท่าใดนัก แต่จะไม่เป็นเช่นนี้หากพ่อ-แม่ต่างก็ให้เวลากับเด็กๆเป็นพิเศษ

     ปัญหามักเริ่มเกิดตอนที่เด็กเริ่มหัดเดิน ซึ่ในขณะนั้นเด็กๆก็ยังคงไม่เข้าใจกฏของบ้านและไม่รู้จักปล่อยให้สุนัขอยู่ตามลำพัง สุนัขจะมีความสุขมากหากมีที่เป็นของมันเอง จงจำไว้ว่าเมื่อคุณนำเด็กเข้ามาอยู่ในบ้าน ทุกคนควรเอาใจใส่สุนัขมากๆแล้วมันจะมีนิสัยที่ดีและเชื่องกับเด็ก

     ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับสุนัข
     สำหรับสุนัขแล้วทุกคนในครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของเขา แต่เมื่อมีเด็กเล็กๆเข้ามาอยู่ด้วย เขาจะรู้สึกว่าเด็กไม่ใช่เจ้านายของเขา ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาได้ เพราะเขารู้สึกว่าเด็กไม่ใช่เจ้านาย เขาจึงมักปฏิเสธคำสั่งของเด็กๆและอาจกัดเด็กๆได้ เป็นความจำเป็นที่พ่อ-แม่ควรเข้าใจสุนัขและมีการตักเตือนเพื่อป้องกันปัญหาที่กล่าวมาแล้ว หรือคุณอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็ได้ เช่น สัตวแพทย์ เป็นต้น

     ทำไมสุนัขจึงกัดเด็กและจะป้องกันได้อย่างไร
     เมื่อสุนัขกัดผู้ใหญ่มันมักจะโดนทำโทษ แต่เมื่อกัดเด็กความกลัวที่จะโดนทำโทษก็จะลดลง แต่สุนัขก็จะมีการเตือนก่อนกัดเสมอ โดยแสดงออกทางสีหน้า ขา เพื่อทำให้เด็กๆเกิดอาการกลัว

     เป็นโชคไม่ดีที่เด็กๆไม่สามารถสื่อเป็นภาษาของสุนัขได้และสุนัขก็ไม่สามารถสื่อสารได้เช่นกัน ส่วนมากการที่สุนัขกัดเด็กๆนั้นเกิดจากการผิดพลาดในการเอาใจใส่ของพ่อ-แม่ และผิดพลาดเกี่ยวกับการป้องกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาอย่างดีเยี่ยมโดยการดุสุนัข

     หากว่าเด็กๆโดนกัดและมีแผลเกิดขึ้น คุณควรทำความสะอาดแผลและใส่ยาให้เขา หากคุณสงสัยว่าสุนัขนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ คุณควรติดต่อกับสถานพยาบาลใกล้บ้านคุณทันที ความกระทบเทือนทางจิตใจมีความรุนแรงกว่าทางร่างกาย หากเด็กเกิดอาการกลัวสุนัข คุณควรนำเขาออกมาให้ห่างจากสุนัขก่อน แล้วจึงค่อยๆให้เขาเข้าไปหาสุนัขอีกครั้งเมื่อเขาพร้อม แต่เราก็ไม่สามารถประมาณเวลาได้แน่นอนว่าเด็กๆจะหายกลัวเมื่อใด คุณควรหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วย ถ้าเด็กๆของคุณไม่สามารถเขาหาสุนัขได้อีก

     เกี่ยวกับสุขภาพของผู้เลี้ยงสุนัข
     สุนัขและคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่ก็มีความเสี่ยงเล็กน้อยต่อการติดเชื้อ แต่ก็มีเพียงไม่กี่โรคเท่านั้น เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งคุณควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้กับสุนัขของคุณ เพราะหากคุณไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขของคุณ หากสุนัขของคุณไปกัดลูกของคุณนั่นหมายถึงคุณต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายเพื่อรักษาเขา เด็กๆของคุณอาจติดพยาธิตัวกลม และพยาธิปากขอได้จากอุจจาระของสุนัข ดังนั้นควรถ่ายพยาธิให้กับสุนัขด้วย เห็บและหมัดก็อาจกัดเด็กๆได้เช่นกัน คุณจึงควรกำจัดเห็บ-หมัดให้กับสุนัขด้วยเช่นกัน ไม่ควรให้เด็กนอนกับสุนัขเพราะอาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้

วิธีแก้ปัญหาง่ายๆสำหรับปัญหาเด็กกับสุนัข
  1. 1. การเห่าทำให้เด็กตื่นจากการนอนหลับ 

   วิธีแก้ปัญหา : ย้ายสุนัขให้ไกลออกไปจากสถานที่ที่มีเด็กนอนหลับอยู่ ปล่อยให้เด็กๆชินกับเสียงเห่าของสุนัข ต่อไปเขาก็จะ สามารถหลับได้เอง
  1. 2. สุนัขวิ่งเข้าไปหาเด็กทำให้เขาล้มลง

   วิธีแก้ปัญหา : ให้สุนัขอยู่ห่างๆเด็กที่เพิ่งหัดเดิน สอนให้เด็กรู้จักวิธีการบอกให้สุนัขนั่งลงเวลาที่สุนัขมีอาการ ตื่นเต้นมาก
  1. 3. สุนัขขโมยอาหารของเด็กหรือขออาหารที่โต๊ะ

   วิธีแก้ปัญหา : ให้นำสุนัขออกจากครัวในขณะที่เด็กกำลังรับประทาน อาหาร มีอาหารของสุนัขเองไม่ควรนำอาหารบนโต๊ะให้
  1. 4. สุนัขกระโจใส่เด็กๆ

   วิธีแก้ปัญหา : ไม่ควรอนุญาตให้ทำเช่นนั้นกับใครๆทั้งสิ้น สอนให้เด็กรู้จักหลบและหันหลังให้สุนัขขณะที่สุนัขกระโดด หรืออาจสอนสุนัขตั้งแต่เด็กๆ
  1. 5. สุนัขคำรามหรือขู่เด็ก

   วิธีแก้ปัญหา : ไม่ควรอดทนต่อการรุกรานของสุนัข และควรเข้มงวดกับการ ฝึกสุนัขให้มากขึ้น ให้คำแนะนำกับเด็กๆไม่ควรเคลื่อนย้ายชามอาหาร ของเล่นของสุนัข เพราะสุนัข ควรมีที่ประจำของเขาเอง รวมถึงที่นอนด้วย
  1. 6. เด็กเล่นกับอุจจาระของสุนัข

   วิธีแก้ปัญหา : ให้สุนัขอยู่ข้างนอกและทำความสะอาดก่อนที่เด็กจะมาเล่น มีที่ให้สุนัขถ่ายอุจจาระซึ่งไม่ใช่ที่ที่อยู่ใกล้กับสถานที่เล่น ของเด็กๆ


 
Picture
     ปัจจุบันนี้เจ้าของสัตว์เริ่มมีความสงสัยกันมาก ว่าเหตุใดสุนัขจึงมีแนวโน้มเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น เกิดอะไรกับสัตว์เลี้ยงของเรา 

     จากข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่โจษจันท์ถึงอาหารหลายๆ ยี่ห้อที่ทำให้เกิดภาวะตับ หรือไตล้มเหลว อาจทำให้เจ้าของสัตว์หลายคนทึกทักเอาว่าอาหารสำเร็จรูป เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สัตว์เกิดโรคไต 

     แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคไตเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงด้วยกัน เช่น สัตว์ที่มีอายุมาก สุนัขบางพันธุ์ที่มีแนวโน้มการเกิดความผิดปกติของไตตั้งแต่กำเนิด เช่น ชิสุ ชเนาส์เซอร์ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น สัตว์กินน้ำน้อย ชอบเลียพื้นที่มีสารเคมี กินน้ำในกระถางต้นไม้ที่ใส่ปุ๋ย อาศัยอยู่ในบริเวณที่ใช้ยาฆ่าแมลง และสารที่เป็นพิษต่อไต เป็นต้น

     ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมีความเชื่อว่า เหตุที่สัตว์เลี้ยงของเราตรวจพบการเป็นโรคไตมากขึ้น คงเป็นเพราะในปัจจุบันคนไทยเราเริ่มเอาใจใส่สุขภาพสัตว์เลี้ยงมากกว่าแต่ก่อน นำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ทำหมัน รวมทั้งตรวจเลือดเช็คสุขภาพมากขึ้น จึงทำให้สัตวแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยหาโรคได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น

     โรคไตวายเรื้อรังเป็นหนึ่งในโรคของระบบทางเดินปัสสาวะที่พบได้มากที่สุด โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอายุมาก เพราะไตทำหน้าที่กรองเอาของเสียออกจากกระแสโลหิต รักษาสมดุลของสารน้ำ และแร่ธาตุในร่างกาย รวมถึงทำหน้าที่คล้ายต่อมไร้ท่อ ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมความดันเลือด และสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกายอีกด้วย 

     สัตว์มีไตสองข้างเช่นเดียวกับมนุษย์ โดยแต่ละข้างประกอบด้วยหน่วยไตเล็กๆ นับเป็นแสนๆ หน่วย เมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น หน่วยไตจะค่อยๆ เสื่อม และลดปริมาณลงตามกาลเวลา หน่วยไตที่เสียหายแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ใหม่ ส่วนที่ยังเหลืออยู่ จะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อทำหน้าที่ชดเชยหน่วยไตที่เสียไปแล้ว 

     โดยปกติแล้วหากหน่วยไตเสียหายไม่เกิน 75 เปอร์เซนต์ ไตส่วนที่เหลือยังสามารถทำงานชดเชยได้ ทำให้ระดับของ ครีเอตินีน(Creatinine) และ ยูเรีย (Urea) ในกระแสเลือด ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกการทำงานของไต ยังไม่พบความผิดปกติ 

     แต่เมื่อหน่วยไตเกิดความเสียหายเกิน 75 เปอร์เซนต์ แล้ว จึงเกิดภาวะไตวายขึ้น เมื่อตรวจเลือดและปัสสาวะก็จะพบความผิดปกติได้

     อาการที่พบในสัตว์ป่วยไตวายเรื้อรัง คือ ซึม ความอยากอาหารลดลง กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ ชอบปัสสาวะตอนกลางคืน ขนแห้งหยาบ น้ำหนักลดลง ช่องปากอักเสบเป็นแผล มีกลิ่นปากรุนแรง

     แต่บางตัวอาจไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็น ทำให้เจ้าของมักมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป กว่าจะพามาพบสัตวแพทย์อาการก็รุนแรงมากแล้ว เช่น อาเจียน ถ่ายเป็นเลือดดำ หมดแรง ไม่ยอมใช้สองขาหลัง ชักกระตุก

ภาวะของโรคไตอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกันคือ

   ระยะที่ 1. ภาวะที่ไตเสียหายมากกว่า 67 เปอร์เซนต์ ระยะนี้เราจะเรียกสัตว์ว่าเป็นโรคไต (renal insuficeincy) แต่ยังไม่ถือว่าเป็นไตวายเรื้อรัง สัตว์จะไม่แสดงความผิดปกติใดๆ ให้เห็น อาจแสดงอาการกินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ ชอบปัสสาวะตอนกลางคืน การตรวจเช็คเลือดค่า ครีเอตินีน (Creatinine) และ ยูเรีย (Urea) จะไม่พบความผิดปกติ แต่หากทำการตรวจปัสสาวะจะพบว่า ความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าปกติ รวมทั้งมักตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงของเรามีอายุมากกว่า 6 ปี จึงควรตรวจปัสสาวะร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย

     หากพบว่าสัตว์อยู่ในระยะนี้ เราสามารถช่วยชะลอความเสียหายของไตให้ช้าลงได้ ด้วยการให้อาหารที่มีการจำกัดโปรตีน และฟอสฟอรัส ซึ่งมีจำหน่ายในรูปแบบของอาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์อายุมาก เช่น อาหารโรคไต หรืออาหารโรคหัวใจ เป็นต้น

   ระยะที่ 2. ภาวะที่ไตเสียหายมากกว่า 75 เปอร์เซนต์ ระยะนี้จึงเรียกว่าเป็นไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) สัตว์บางตัวอาจไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็นชัดเจน แต่หากตรวจเลือดวัดระดับการทำงานของไต ครีเอตินีน (Creatinine) และ ระดับยูเรีย (Urea) ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณของเสียที่มีอยู่ในเลือด พร้อมกับตรวจปัสสาวะจะพบความผิดปกติ ความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับความสามารถของไตในการขับเอาของเสียออก หากเกิดการคั่งในเลือดจนเกินระดับความทนทานของสัตว์ สัตว์จะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด อาเจียน และมีถ่ายเหลว

   ระยะที่ 3. ระยะสุดท้าย (end stage) อาการจะรุนแรงมากขึ้น อาเจียนบ่อยครั้ง ถ่ายเหลวดำคล้ำ กลิ่นปากจะคล้ายกับกลิ่นของปัสสาวะ มีแผลหลุมในปาก กินอาหารไม่ได้ หมดแรง บางตัวหากเกิดการคั่งของ ของเสีย ในเลือดมากๆ จะเกิดอาการชัก ทุรนทุราย หมดสติ และ เสียชีวิตในที่สุด

     ดังที่ได้กล่าวไว้ในช่วงแรก ไตทำหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน เมื่อไตเสียหายจนร่างกายไม่สามารถชดเชยได้ จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ตามมา คือภาวะแทรกซ้อนของโรคไต ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดเลยก็ได้ ภาวะที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้

   1. ภาวะร่างกายเป็นกรดมากกว่าปกติ ไตทำหน้าที่ปรับสมดุลความเป็นกรด- ด่างให้ร่างกาย เมื่อไตเกิดความเสียหาย ความสามารถในการขับกรดทิ้งจะลดลง เมื่อกรดในเลือดสูงขึ้น สัตว์จะซึม เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียน และอาจทำให้สัตว์ถึงกับชีวิตได้ การรักษาในขั้นนี้สัตว์ต้องได้รับการตรวจ สถานะความสมดุลอิเล็คโตรไลต์ต่างๆในร่างกาย (blood gas) เพื่อให้ทราบถึงความรุนแรงของอาการ สัตว์ป่วยต้องอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ เพื่อปรับสมดุล กรด- ด่าง และอิเล็คโตรไลต์ต่างๆ ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อร่างกายเริ่มปรับสภาพได้ดีขึ้นแล้ว การให้อาหารที่จำกัดโปรตีน และฟอสฟอรัส รวมทั้งมีสารโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือโปแตสเซียมซิเตรท จะช่วยปรับสมดุลย์ให้ร่างกายเกิดกรดเกินน้อยลง 

   2. ภาวะความดันโลหิตสูง ในสุนัข และแมว มักจะแตกต่างจากในคน เพราะภาวะนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง (แต่จะพบได้ 65 – 70 เปอร์เซนต์ ของสัตว์ป่วยไตวายเรื้อรัง) สาเหตุมักเกิดจากภาวะคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย รวมทั้งภาวะที่ไตถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมน angiotensin ออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้มีความดันเลือดสูงขึ้น หากปล่อยภาวะนี้ไว้นานๆ ไตจะต้องทำงานมากกว่าปกติ และเสียหายเร็วขึ้น หากความดันโลหิตสูงมากๆ จะทำให้เกิดเลือดออกในจอตา สัตว์อาจตาบอดได้ ในที่สุด

     สัตว์ป่วยไตวายเรื้อรังควรได้รับตรวจวัดความดันเลือดเป็นประจำทุก 3 เดือน หากมีความดันสูงมาก จะต้องตรวจตาเพื่อดูความผิดปกติด้วยทุกครั้ง การรักษาสัตว์จะได้รับยาลดความดันเลือด และจำกัดอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่นในอาหารที่มีรสเค็ม อาหารทะเล เป็นต้น

   3. ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากไตทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน erythropoietin ไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเป็นโรคไต ฮอร์โมนจะถูกสร้างลดลง จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางขึ้น การรักษานั้นจะต้องทำการฉีดฮอร์โมน erythropoietin ชดเชยให้สัตว์ที่มี ระดับของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 25เปอร์เซนต์ การฉีดฮอร์โมนต้องทำหลายครั้งต่อสัปดาห์ และอาจฉีดเป็นเวลานานหลายเดือน ขึ้นกับการตอบสนองของสัตว์ การเสริมยาบำรุงเลือดร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้การฉีดฮอร์โมนนี้ได้ผล 
ฮอร์โมนสำหรับฉีดผู้ป่วยโลหิตจางมีราคาสูงมาก สัตว์ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากทีเดียว

   4. ภาวะกระดูกพรุน เกิดจากการคั่งของ ฟอสฟอรัส ในเลือด เนื่องจากไตขับทิ้งไม่ได้ พาราไทรอยด์ฮอร์โมนจึงถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมา เพื่อรักษาความสมดุลของ แคลเซียม และฟอสฟอรัสในร่างกาย โดยตัวฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะก่อความเป็นพิษกับเนื้อเยื่อของไต นอกจากนั้นยังไปดึงเอาแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมในเลือด จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน เมื่อสัตว์โดนแรงกระทบกระแทกเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้กระดูกเกิดการร้าว หักได้

     การรักษา สัตว์จะต้องได้รับการแก้ไขภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง ด้วยการให้ยาจับฟอสฟอรัสในอาหาร และจำกัดอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ซึ่งได้แก่ เครื่องในสัตว์ และเนื้อสัตว์ ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปที่ทำขึ้นมาเฉพาะสำหรับสัตว์ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยมีการจำกัดโปรตีน และฟอสฟอรัส รวมทั้งเสริมวิตามิน แร่ธาตุ และช่วยปรับสมดุลความเป็นกรด- ด่างแก่ ร่างกายอีกด้วย เมื่อภาวะฟอสฟอรัสในเลือดปกติ จึงทำการเสริม calcitriol เพื่อเพิ่มการดูดซึมของแคลเซียมในลำไส้ และลดการหลั่งของพาราไทรอยด์ฮอร์โมน 

   5. ภาวะของเสียคั่งในเลือด ยูเรีย เป็นผลจากการเผาผลาญโปรตีนในร่างกาย เมื่อไตขับของเสียได้ลดลง จะเกิดการสะสมของสารยูเรียในเลือด บางครั้งเราสามารถได้กลิ่นของเสียคล้ายปัสสาวะออกมาจากปาก และลมหายใจของสัตว์ป่วยได้ ของเสียเหล่านี้มีความเป็นกรดสูง จึงไปรบกวนระบบเมตาบอลิซึมต่างๆ ของร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดภาวะอาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นเลือดสีดำ และถ้าเกิดการคั่งมากๆ จะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทจนทำให้เกิดอาการชักได้ ภาวะนี้เราเรียกว่า uremia เมื่อสัตว์เกิดภาวะนี้ขึ้น จำเป็นที่จะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

     การรักษาโรคไตวายเรื้อรังนั้นสามารถทำได้ ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ต้องหาผู้บริจาคเนื้อเยื่อไตที่สามารถเข้ากันได้ ค่าใช้จ่ายสูง ในเมืองไทยยังไม่ได้นำวิธีนี้เข้ามาใช้ในการรักษา เนื่องจากการผ่าตัดมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ในแมวมักได้ผลดีกว่าสุนัข นอกจากนี้ยังสามารถรักษาด้วยการฟอกไต เช่นเดียวกับในมนุษย์ การฟอกไตสำหรับสัตว์ในเมืองไทย จะใช้กับสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 10 กิโลกรัม ไม่นิยมใช้ในแมว หรือสุนัขที่มีน้ำหนักตัวน้อยๆ และใช้รักษาเฉพาะภาวะไตวายเฉียบพลันมากกว่า ส่วนการรักษาไตวายเรื้อรัง มักรักษาตามอาการเป็นหลัก

     ในการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังนั้น เจ้าของควรทำความเข้าใจเสียก่อนว่า โรคนี้เป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกเสียจากจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนไต 

     การรักษาจะมุ่งเน้นที่จะชะลอความเสียหายของไตส่วนที่เหลือ เพื่อยืดอายุสัตว์ให้สามารถมีชีวิตอยู่กับเจ้าของได้นานขึ้น การรักษาต้องอาศัยการสละเวลาและได้รับความร่วมมือจากเจ้าของเป็นอย่างมาก ค่าใช้จ่ายในการดูแลจะเพิ่มมากขึ้น หากสัตว์เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น 


การดูแลสัตว์ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรัง

   1. โภชนบำบัด หรือการรักษาด้วยการใช้อาหาร เพื่อให้สัตว์ป่วยได้รับสารอาหารและพลังงานที่ครบถ้วน อาหารจะช่วยในการปรับสมดุลของน้ำ เกลือแร่ วิตามินและความเป็นกรด - ด่างของร่างกาย ลดอาการที่เกิดจากภาวะของเสียคั่งในเลือด (uremia) และชะลอความเสียหายของไตให้เกิดช้าลง 

     อาหารโรคไตส่วนใหญ่เป็นอาหารสำเร็จรูป มีทั้งชนิดเม็ด และกระป๋อง ซึ่งมีปริมาณโปรตีนอยู่ในระดับต่ำกว่าอาหารปกติ เพื่อลดการสร้างของเสียในเลือด มีผลควบคุมทำให้สัตว์ไม่แสดงอาการผิดปกติ 

     ในอาหารรักษาอาการโรคไตยังมีระดับของ ฟอสฟอรัส โซเดียม แมกนีเซียม และไฮโดรเจนต่ำกว่าในอาหารทั่วไปรวมทั้งยังเสริมเกลือแร่ เช่น โปแตสเซียม, วิตามิน และอิเล็คโตรไลท์ เช่น แคลเซียม สูงกว่าในอาหารปกติ เพื่อชดเชยการสูญเสียจากการที่ไตไม่สามารถดูดสารเหล่านี้กลับไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังใส่โซเดียมไบคาร์บอเนต และโปแตสเซียมซิเตรท เพื่อปรับสมดุลร่างกายให้มีภาวะเป็นกรดลดลง 

     จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า สัตว์ป่วยที่จำกัดโปรตีน และฟอสฟอรัส จะมีอายุยืนยาวขึ้นเป็น 2.4 เท่าของสัตว์ที่ไม่ได้ควบคุมอาหารเลย 

     อย่างไรก็ตามมีสัตว์ป่วยจำนวนมากที่ไม่ยอมกินอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากมีความเบื่ออาหาร การปรุงอาหารให้ร้อน อุ่นอาหารให้มีกลิ่นหอม จะช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร หรือการปั่นอาหารให้เหลว เพื่อให้สามารถป้อนด้วยไซริงค์ได้ และทำให้สัตว์ได้รับสารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเต็มที่ 

   2. การใช้สารน้ำในการรักษา หรือการให้น้ำเกลือแก่สัตว์ที่เริ่มแห้งน้ำ (dehydration) เนื่องจากสัตว์มักเกิดความเบื่ออาหาร และไม่กินน้ำ รวมทั้งจากภาวะที่ไตดูดกลับแร่ธาตุต่างๆ จากท่อไตได้ลดลง สัตว์จะแสดงอาการ ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น เยื่อเมือกแห้ง ลูกตาจมลึกเข้าไปในเบ้าตา หากปล่อยภาวะแห้งน้ำไว้นานๆ จะทำให้ไตเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น และเกิดการคั่งของเสียในเลือดตามมาได้ 


     ในกรณีที่สัตว์ปวยที่ได้รับการประเมินจากสัตวแพทย์แล้ว ว่าสามารถรับกลับไปอยู่ในความดูแลของเจ้าของได้ จะแนะนำให้เจ้าของให้น้ำเกลือสัตว์ป่วยเข้าใต้ผิวหนังเองที่บ้าน ชนิดของน้ำเกลือที่ให้มักจะเป็น Lactate ringer หรือ Acetar 

     น้ำเกลือที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลผสมอยู่ด้วยจะใช้ไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง อักเสบ ปริมาณการให้ในแต่ละตัวจะแตกต่างกัน ขึ้นกับน้ำหนักตัวของสัตว์ และระดับความแห้งน้ำ ความถี่ของการให้น้ำเกลือจะขึ้นกับระดับของ ครีเอตินีน(creatinine) และ ยูเรีย (Urea) 

     การให้น้ำเกลือปริมาณมากไป อาจมีผลทำให้สัตว์เกิดภาวะน้ำท่วมปอด และหากให้น้ำเกลือบ่อยๆ ก็จะพบผิวหนังอักเสบ ขนเปลี่ยนสีได้ ดังนั้นเมื่อพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ตามนัดหมาย ควรทำการวัด และประเมินการกินน้ำและอาหาร รวมทั้งปริมาณปัสสาวะแต่ละวันเพื่อแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบ หากสัตว์สามารถกินน้ำได้อย่างเพียงพอกับปริมาณที่สูญเสียไป อาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำเกลือเลยถ้าค่าไตสูงกว่าปกติเล็กน้อย 

   3. สัตว์ที่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โลหิตจาง ความดันโลหิตสูง หรือของเสียคั่งในเลือด จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแล และสังเกตอาการมากเป็นพิเศษ โดยควรมาพบสัตวแพทย์ตามนัดหมายด้วยทุกครั้ง

     สัตว์ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นสุนัขอื่นๆ เพียงจะมีข้อจำกัดเรื่องอาหารและการดูแลจากเจ้าของเพิ่มมากขึ้น หากดูแลสัตว์เลี้ยงได้ตามที่สัตวแพทย์แนะนำ สัตว์จะสามารถมีอายุยืนยาวขึ้นได้ 6 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นกับระยะของโรคที่เป็น การดูแลไม่ใช่เรื่องยาก หากท่านใส่ใจ และมีความพยายาม 

     การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา หากสัตว์เลี้ยงเริ่มมีอายุมากขึ้น ควรทำการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย การตรวจเลือด และปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยให้สัตวแพทย์วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น 

     การรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ชะลอความเสียหายของไต และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต

 
Picture
          การตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงประจำปี 
โดย สัตวแพทย์หญิง กิตติกร พรหมบุญ โรงพยาบาลสัตว์ธวัชชัย

          การเลี้ยงสุนัขนั้น เราควรพามาตรวจเช็คสุขภาพประจำปีเป็นประจำเพื่อว่าเราจะได้รู้แต่เนิ่น ๆ ว่าสุนัขเรามีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคใด ๆ หรือไม่ ดีกว่ามารู้เมื่อสาย ในสุนัขและแมวที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจเลือดเพื่อเช็คสุขภาพเป็นประจำทุกปี  ถึงแม้ว่าร่างกายภายนอกอาจดูแข็งแรง แต่อาจมีโรคแฝงอยู่ ซึ่งเราไม่ทราบ กว่าจะรู้ก็สายเกินแก้แล้ว ยิ่งถ้าสุนัขแก่มาก ๆ แล้ว การตรวจเช็คเลือด เช็คสุขภาพยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก

การตรวจเลือดบอกอะไรได้บ้าง

          การตรวจเลือดนั้น จะทำให้พบข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่า สัตว์เลี้ยงของเรานั้นปกติหรือผิดปกติ แล้วถ้าผิดปกติเกิดมาจากอวัยวะใด เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวินิจฉัยรักษา และป้องกันโรคที่เกิดได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการตรวจเลือด ได้แก่...

 1. การตรวจนับจำนวนเม็ดเลือด แบ่งเป็น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด

          - จำนวนเม็ดเลือดแดง ถ้ามีระดับต่ำกว่าค่าปกติ แสดงว่ามีภาวะของเลือดจาง ในกรณีที่มีเลือดจางอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะบ่งบอกถึงโรคได้หลายโรค เช่น พยาธิเม็ดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

          - จำนวนเม็ดเลือดขาว เป็นตัวที่บอกถึงภาวะการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในร่างกาย เนื่องจากเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ป้องกันการรุกรานของเชื้อโรคต่าง ๆ 

          - เกร็ดเลือด มีหน้าที่ในการควบคุมการแข็งตัวอขงเลือด ถ้าจำนวนลดต่ำกว่าระดับปกติ บ่งชี้ภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเมื่อมีเลือดออก เลือดจะหยุดไหลช้า หรือเกิดจ้ำเลือดที่ผิวหนังได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกร็ดเลือดลดลง ได้แก่ พยาธิเม็ดเลือด ยาบางชนิด (เคมีบำบัด) โรคต่อต้านภูมิคุ้มกันตนเอง การเสียเลือด และมะเร็งในไขกระดูก เป็นต้น

 2. การตรวจสมรรถภาพของตับ

          ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตับจะทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนบางชนิด ขับทิ้งของเสียหรือยาบางชนิด และสะสมสารหลายชนิด ในกรณีที่เซลล์ตับเกิดความเสียหายหรือเกิดการคั่งของท่อน้ำดี ตับจะหลั่งเอนไซม์บางชนิดออกมาในระดับที่สูงกว่าระดับปกติในกระแสเลือด

 3. การตรวจสมรรถภาพของไต

          โดยปกติไตจะทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย โดยจะขับออกมากับปัสสาวะ แต่ในกรณีที่ไตเกิดความเสียหาย ไม่สามารถกรองของเสียได้ แทนที่ของเสียจะถูกขับทิ้ง แต่กลับถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งของเสียเหล่านี้จะมีผลต่อการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับการกรองของไตสามารถตรวจพบได้จากค่าของเสียที่สูงขึ้นในกระแสเลือด

 4.. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

          เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน รวมถึงติดตามผลการรักษา

 5. การตรวจระดับอิเลคโตรไลท์และความสมดุลกรดด่างในกระแสเลือด

          มักทำการตรวจในกรณีฉุกเฉิน และ metabolic disease เนื่องจากอิเลคโตรไลท์บางชนิด และความสมดุลกรดด่างมีผลเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ หากแก้ไขให้อยู่ในภาวะสมดุล สัตว์อาจพ้นภาวะฉุกเฉินได้ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพิเศษอีกหลายชนิดที่สามารถตรวจได้จากเลือด ซึ่งสัตวแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาส่งตรวจตามความเหมาะสม

          เห็นไหมคะว่าการตรวจเลือดสามารถบอกอะไรเราได้หลายอย่าง และช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง และเป็นการเช็คสภาพของร่างกายด้วย ถ้าอยากให้สัตว์เลี้ยงอยู่กับเรานาน ๆ มาตรวจสุขภาพกันเถอะ

 
Picture
     ก่อนนำลูกสุนัขใหม่เข้าบ้าน อยากให้คนเลี้ยงสุนัขและคนที่กำลังจะเลี้ยงสุนัขในอนาคตได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับโรคต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในสุนัข เพื่อที่จะระมัดระวังได้อย่างถูกวิธีและเข้าใจการรักษาที่ถูกต้อง

พยาธิในทางเดินอาหาร
     ลูกสุนัขบางตัวจะพบการติดพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารจากการดื่มน้ำนมของแม่สุนัขที่มีพยาธิชนิดนั้นๆ อยู่ ซึ่งส่งผลให้ลูกสุนัขมีอาการถ่ายเหลว หรือในลูกสุนัขบางตัวที่มีพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารเป็นจำนวนมากจะพบว่าลูกสุนัขซูบผอม ลักษณะที่สังเกตได้จากภายนอกคือ ท้องจะกางจากภาวะของโปรตีนในเลือดต่ำ บางตัวอาเจียนหรือถ่ายเหลว แล้วมีพยาธิปนออกมา โดยพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารที่สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ได้แก่ พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน ดังนั้น หากพบอาการดังกล่าว คุณควรถ่ายพยาธิให้กับทั้งแม่และลูกสุนัขไปพร้อมๆ กันค่ะ โดยการถ่ายพยาธิจะทำทุก 2-3 สัปดาห์ ประมาณ 4-5 ครั้งติดต่อกัน

โรคติดเชื้อในทางเดินอาหารจากเชื้อโปรโตซัว หรือเชื้อบิด
     เชื้อโปรโตซัวที่พบบ่อยที่สุดมีชื่อว่า Giardia ค่ะ โดยอาการที่พบคือ สุนัขมักจะถ่ายเหลวหรือนิ่ม ไม่เป็นทรงตามปกติ สลับกับบางวันที่ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นทรงปกติ และเมื่อนำอุจจาระมาตรวจก็จะพบเชื้อชนิดนี้ปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของสุนัขที่ป่วย โรคนี้เป็นแล้วสามารถรักษาได้ ไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนกับโรคบางโรคที่จะกล่าวต่อไป

โรคลำไส้อักเสบจากเชื้อพาร์โวไวรัส หรือโคโรน่าไวรัส
     โรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง สามารถติดต่อได้ค่อนข้างเร็วมาก ซึ่งการติดต่อเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้โดยตรง หรือจากการสัมผัสกับอุจจาระของสุนัขที่ป่วยด้วยโรคนี้ ระยะฟักตัวของโรคนี้จะอยู่ที่ 3-7 วัน อาการที่สังเกตเห็นได้ในตอนแรกๆ คือ สุนัขจะค่อนข้างซึมมาก มีอาการอาเจียน และถ่ายท้องเสียอย่างรุนแรง หลายครั้งบางรายมีการถ่ายเป็นเลือดสดๆ ในลูกสุนัขที่แสดงอาการป่วยค่อนข้างรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากให้สารน้ำและเกลือแร่ไม่ทันท่วงที

     โรคนี้ไม่มียาที่ใช้ในการรักษาโดยตรง การรักษาจึงทำได้เพียงให้ยาเพื่อควบคุมการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนไว้เท่านั้น หรืออาจป้องกันโรคโดยการทำวัคซีนในลูกสุนัขที่มีอายุ 45 วันขึ้นไป ต่อเนื่องกันทุก 3 อาทิตย์ ประมาณ 2-3 ครั้ง จากนั้นในปีต่อมาจึงจะกระตุ้นปีละ 1 ครั้ง หรือในเจ้าของสุนัขบางรายสามารถกระตุ้นวัคซีนรวมให้แม่สุนัขก่อนการผสม เพื่อให้แน่ใจว่าแม่สุนัขจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ได้สูงพอและสามารถผ่านภูมิคุ้มกันโรคแบบรับมานี้ต่อไปยังลูกสุนัข โดยผ่านทางนมน้ำเหลืองในขณะที่ลูกสุนัขกินนมแม่

ไรในหู
     เป็นโรคที่เราพบได้บ่อยมาก เวลาที่นำลูกสุนัขใหม่มาที่โรงพยาบาลสัตว์ โดยจะสังเกตเห็นว่า ลูกสุนัขจะแสดงอาการคันที่บริเวณใบหูอย่างมาก บางตัวจะแสดงอาการสะบัดหัวบ่อยๆ เมื่อเราเปิดดูที่บริเวณช่องหูจะเห็นว่า ลูกสุนัขจะมีขี้หูค่อนข้างเยอะ และขี้หูจะเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ ส่วนในรายที่เป็นมากๆ ช่องหูส่วนนอกจะมีการอักเสบร่วมด้วยค่ะ ซึ่งในบางครั้งจะมีการติดเชื้อของยีสต์ในช่องหู หรือมาจากเชื้อแบคทีเรียร่วมกันค่ะ การรักษาไรในหูในปัจจุบันนี้มีหลายวิธีค่ะ โดยจะใช้ยาหยอดหู หรือใช้ยาราดที่กลางหลังเพื่อควบคุมไรในหูก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเลือกวิธีใด แนะนำให้ทำต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่า ไรในหูได้ตายหมดแล้วจริงๆ

โรคไข้หัดสุนัข
     เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสของไข้หัดสุนัข โดยสุนัขสามารถติดโรคนี้ได้จากการสัมผัสโดยตรงกับสุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้ หรือมีการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งที่มาจากสุนัขป่วย อาการที่สังเกตเห็นโดยมากจะเริ่มเป็นที่ระบบทางเดินหายใจก่อน จากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนมาร่วมกับเชื้อไวรัสไข้หัด โดยเราจะพบว่าสุนัขมีขี้มูก ขี้ตาเยอะ และภาวะปอดบวม หรือในบางตัวอาจเริ่มต้นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทางเดินอาหาร และสุนัขจะแสดงอาการถ่ายเหลว ท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งหลังจากการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ หรือทางเดินอาหารอย่างเรื้อรังไประยะหนึ่ง สุนัขอาจจะเริ่มแสดงอาการทางประสาท เช่น มีการกระตุกของกล้ามเนื้อ แขน ขา หรือ ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และอาจจะเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีอาการชักจากการที่เชื้อไวรัสไข้หัดขึ้นไปทำลายและรบกวนการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง สุนัขบางตัวเริ่มมีการชักกระตุก เดินวนไปมา ในบางรายอาจพบตาบอด และบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

     โรคนี้ไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่จะใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ แล้วรอจนกระทั่งร่างกายของสุนัขสามารถสร้างภูมิขึ้นกันที่มีต่อเชื้อนี้ขึ้นมา การทำวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสุนัขสร้างภูมิคุ้มกันโรค และในขณะเดียวกันแม่สุนัขสามารถผ่านภูมิคุ้มกันแบบรับมานี้ไปยังลูกสุนัขได้โดยผ่านทางนมน้ำเหลือง โดยวิธีการกระตุ้นวัคซีนของโรคนี้จะใช้แบบเดียวกันกับที่เราทำให้กับโรคลำไส้อักเสบ

 
Picture
          เชื่อว่าในหมู่คนเลี้ยงน้องหมาคงเคยได้ยินเรื่องโรคพยาธิเม็ดเลือดมาพอสมควร พยาธิเม็ดเลือจัดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งในสุนัขมีทั้งหมด 3 ชนิด โดยแต่ละชนิดจะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแตกต่างกันไป แต่วันนี้จะขอกล่าวถึงพยาธิเม็ดเลือดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนั่นคือ ชนิด Ehrlichia canis หรือเรียกกันย่อๆ ว่า E. Canis พยาธิเม็ดเลือดชนิดนี้พบได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกพันธุ์ ทุกอายุ โดยมีพาหะนำโรคคือ เห็บ นั่นเอง

          ทั้งนี้ หลายท่านก็แอบสงสัยว่าน้องหมาของตัวเองไม่มีเห็บเลย แต่ทำไมถึงเป็นโรคนี้ได้ อาจเพราะมีจำนวนไม่มากพอ เราจึงไม่เห็นมากกว่า หรืออาจจะเป็นช่วงที่เห็บลงจากตัวน้องหมาไปลอกคราบ หรือลงไปวางไข่พอดี ทำหให้เราไม่เจอเห็บบนตัวสุนัขก็เป็นได้ และการเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือดนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเห็บเยอะหรือหลายๆ ตัว แม้มีแค่ตัวเดียว แต่ถ้าตัวที่มีกัดมีพยาธิเม็ดเลือดอยู่ ก็สามารถเป็นโรคได้แล้ว

          เมื่อเห็บดูดเลือดจากสุนัขที่มีเชื้อ E. Canis เข้าไป เชื้อจะเข้ามาอยู่ในตัวเห็บ จากนั้นถูกปล่อยออกไปกับน้ำลายของเห็บขณะที่กินเลือดสุนัขอีกตัว เมื่อเข้าร่างกายสุนัขแล้ว พยาธิจะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ และลิมโฟไซต์ และมีระยะฟักตัว 8-20 วัน ก่อนจะปรากฎอาการ

   อาการ

          สำหรับอาการที่พบทั่วไปมี 2 ระยะ คือ แบบเฉียบพลัน (1-4 สัปดาห์) สุนัขจะมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ ซึม เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต บางตัวพบว่าเลือดกำเดาไหลข้างเดียว จุดเลือดออกตามตัว จากนั้นสุนัขที่มีภูมิคุ้มกันดีจะสามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อได้ 

          แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ เชื้อพยาธิเม็ดเลือดจะพัฒนาเข้าสู่อาการในแบบเรื้อรัง (40-120 วัน) ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่ ซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เยื่อเมือกซีด มีไข้สูง เลือดกำเดาไหลมาก ปัสสาวะเป็นเลือด หายใจลำบาก จนถึงไขกระดูกทำงานบกพร่อง ภูมิคุ้มกันทำลายกันเอง ทำให้โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ตับอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

   การรักษาและวิธีการป้องกัน

          วิธีการรักษาส่วนใหญ่คือ การให้ยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือดและการรักษาตามอาการ โดยจะต้องรักษาต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ร่วมกับตรงจเลือดเพื่อประเมิณค่าเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดเป็นระยะ และต้องติดตามผลต่ออีก 6 เดือน ถึง 1 ปี

          การป้องกันพยาธิเม็ดเลือดนั้นจะต้องอาศัยการเอาใจใส่ดูแลจากเจ้าของ โดยการป้องกันการติดเห็บ ปัจจุบันมีหลายวิธีและหลายผลิตภัณฑ์มาให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น ตามลักษณะพื้นที่อยู่อาศัยและลักษณะการเลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ควรตรวจเลือดน้องหมาอย่างน้อยปีละครั้งด้วยค่ะ

 
Picture
การตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงประจำปี 
โดย สัตวแพทย์หญิง กิตติกร พรหมบุญ โรงพยาบาลสัตว์ธวัชชัย

          การเลี้ยงสุนัขนั้น เราควรพามาตรวจเช็คสุขภาพประจำปีเป็นประจำเพื่อว่าเราจะได้รู้แต่เนิ่น ๆ ว่าสุนัขเรามีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคใด ๆ หรือไม่ ดีกว่ามารู้เมื่อสาย ในสุนัขและแมวที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจเลือดเพื่อเช็คสุขภาพเป็นประจำทุกปี  ถึงแม้ว่าร่างกายภายนอกอาจดูแข็งแรง แต่อาจมีโรคแฝงอยู่ ซึ่งเราไม่ทราบ กว่าจะรู้ก็สายเกินแก้แล้ว ยิ่งถ้าสุนัขแก่มาก ๆ แล้ว การตรวจเช็คเลือด เช็คสุขภาพยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก

การตรวจเลือดบอกอะไรได้บ้าง

          การตรวจเลือดนั้น จะทำให้พบข้อมูลที่สามารถบอกได้ว่า สัตว์เลี้ยงของเรานั้นปกติหรือผิดปกติ แล้วถ้าผิดปกติเกิดมาจากอวัยวะใด เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวินิจฉัยรักษา และป้องกันโรคที่เกิดได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการตรวจเลือด ได้แก่...

 1. การตรวจนับจำนวนเม็ดเลือด แบ่งเป็น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด

          - จำนวนเม็ดเลือดแดง ถ้ามีระดับต่ำกว่าค่าปกติ แสดงว่ามีภาวะของเลือดจาง ในกรณีที่มีเลือดจางอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะบ่งบอกถึงโรคได้หลายโรค เช่น พยาธิเม็ดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

          - จำนวนเม็ดเลือดขาว เป็นตัวที่บอกถึงภาวะการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในร่างกาย เนื่องจากเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ป้องกันการรุกรานของเชื้อโรคต่าง ๆ 

          - เกร็ดเลือด มีหน้าที่ในการควบคุมการแข็งตัวอขงเลือด ถ้าจำนวนลดต่ำกว่าระดับปกติ บ่งชี้ภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเมื่อมีเลือดออก เลือดจะหยุดไหลช้า หรือเกิดจ้ำเลือดที่ผิวหนังได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกร็ดเลือดลดลง ได้แก่ พยาธิเม็ดเลือด ยาบางชนิด (เคมีบำบัด) โรคต่อต้านภูมิคุ้มกันตนเอง การเสียเลือด และมะเร็งในไขกระดูก เป็นต้น

 2. การตรวจสมรรถภาพของตับ

          ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตับจะทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนบางชนิด ขับทิ้งของเสียหรือยาบางชนิด และสะสมสารหลายชนิด ในกรณีที่เซลล์ตับเกิดความเสียหายหรือเกิดการคั่งของท่อน้ำดี ตับจะหลั่งเอนไซม์บางชนิดออกมาในระดับที่สูงกว่าระดับปกติในกระแสเลือด

 3. การตรวจสมรรถภาพของไต

          โดยปกติไตจะทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกาย โดยจะขับออกมากับปัสสาวะ แต่ในกรณีที่ไตเกิดความเสียหาย ไม่สามารถกรองของเสียได้ แทนที่ของเสียจะถูกขับทิ้ง แต่กลับถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งของเสียเหล่านี้จะมีผลต่อการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับการกรองของไตสามารถตรวจพบได้จากค่าของเสียที่สูงขึ้นในกระแสเลือด

 4.. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

          เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน รวมถึงติดตามผลการรักษา

 5. การตรวจระดับอิเลคโตรไลท์และความสมดุลกรดด่างในกระแสเลือด

          มักทำการตรวจในกรณีฉุกเฉิน และ metabolic disease เนื่องจากอิเลคโตรไลท์บางชนิด และความสมดุลกรดด่างมีผลเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ หากแก้ไขให้อยู่ในภาวะสมดุล สัตว์อาจพ้นภาวะฉุกเฉินได้ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพิเศษอีกหลายชนิดที่สามารถตรวจได้จากเลือด ซึ่งสัตวแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาส่งตรวจตามความเหมาะสม

          เห็นไหมคะว่าการตรวจเลือดสามารถบอกอะไรเราได้หลายอย่าง และช่วยในการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง และเป็นการเช็คสภาพของร่างกายด้วย ถ้าอยากให้สัตว์เลี้ยงอยู่กับเรานาน ๆ มาตรวจสุขภาพกันเถอะ

 
Picture
     เรามีวิธีการสังเกตง่ายๆว่า สุนัขสัตว์เลี้ยงของท่านอ้วนเกินไปแล้วหรือยังมาฝาก เพราะถ้าสุนัขของท่านอ้วนเกินไปแล้ว ก็อาจจะไม่ค่อยดีต่อสุขภาพของมันเท่าไรนัก เราสามารถสังเกตได้ดังนี้


สุนัขปกติ
  • สามารถคลำพบกระดูกซี่โครงได้ (โดยไม่ต้องกด)
  • ช่วงท้องต้องแคบกว่าช่วงอกเมื่อมองจากด้านข้าง
  • เห็นช่วงคอดของเอวหลังซี่โครงซี่สุดท้ายเมื่อมองจากด้านบน
สุนัขอ้วน
  • ต้องออกแรงมากกว่าปกติในการคลำซี่โครง
  • ช่วงท้องขนาดเท่าหรืออ้วนกว่าช่วงอก
  • มีไขมันสะสมที่สะโพก โคนหาง พื้นท้อง
  • ผิวหนังรอบคอและหัวไหล่หนากว่าปกติ
     ถ้าสังเกตเห็นว่าสุนัขของเราอ้วนเกินไปแล้ว เราก็ควรที่จะลดน้ำหนักให้มัน เพราะว่ามิฉะนั้นแล้วอาจจะทำให้มันเป็นโรคต่างๆได้ง่าย เรามีวิธีการลดความอ้วนสำหรับสุนัขมาให้ลองไปทำกัน

     วิธีการลดความอ้วนสำหรับสุนัข
  • เลือกชนิดของวัตถุดิบในการทำอาหารให้มีไขมันน้อย มีกากใยมาก และเพิ่มปริมาณน้ำในอาหารให้มากขึ้น
  • ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยกว่าปกติ แต่มาเพิ่มความถี่ในการให้เป็นมื้อมากขึ้น
  • ควรให้สุนัขออกกำลังกายมากขึ้น เช่นการใช้สายจูงเดิน , การปล่อยให้วิ่งภายในบ้าน , หากิจกรรมต่างๆให้สุนัขได้ออกกำลังกายมากขึ้น ถ้าทำได้ทั้งหมด เท่านี้สุนัขของท่านก็จะมีรูปร่างที่สวยงามขึ้น ไม่อ้วนเหมือนก่อน วิธีการนี้ถ้าเจ้าของสุนัขจะนำไปใช้ในการลดน้ำหนักตัวเองก็ได้
     การให้อาหารสุนัขหลังการผ่าตัด หลังการผ่าตัดใหม่ๆถ้าสุนัขยังไม่รู้สึกตัวเนื่องจากฤทธิ์ของยาสลบ เราไม่ควรป้อนอาหารหรือน้ำให้กับสัตว์ เพราะอาจทำให้มันสำลักและเสียชีวิตได้ สำหรับอาหารที่เหมาะกับสัตว์ที่เพิ่งฟื้นใหม่ คืออาหารอ่อนๆย่อยง่าย เช่น น้ำหวาน นม ข้าวต้ม โจ๊ก เป็นต้น