ในปัจจุบันเจ้าของสัตว์เป็นจำนวนมากเริ่มมีความสงสัยว่าเหตุใดสุนัขและแมวจึงมีแนวโน้มเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น เกิดอะไรกับสัตว์เลี้ยงของเรา  โรคไตอาจเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงด้วยกัน เช่น อายุมาก ชนิดของสายพันธุ์สัตว์ที่มีแนวโน้มการเกิดความผิดปกติของไตตั้งแต่กำเนิด เช่น ชิสุ ชเนาส์เซอร์ รวมถึงพฤติกรรมตัวสัตว์เองที่ เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น กินน้ำน้อย หรือชอบเลียกินน้ำไม่เลือกที่ เช่น ตามพื้นที่มีสารเคมี น้ำในกระถาง ต้นไม้ที่ใส่ปุ๋ย หรืออาศัยในบริเวณที่ใช้ยาฆ่าแมลง และสารที่เป็นพิษต่อไต เป็นต้น

     “ไต” เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายสิ่งมีชีวิตทั้งในคนและสัตว์ แน่นอนว่ารวมถึงสุนัขและแมวด้วย เนื่องจากไต มีหน้าที่หลายอย่าง มีกลไกการทำงานที่สลับซับซ้อน และยังทำงานร่วมกับระบบอื่นๆ เช่น ระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบหายใจ
          โดยไตจะทำหน้าที่รักษาสมดุลต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งไตมีหน้าที่หลักในการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นและน้ำ กลับเข้าร่างกาย กรองสารพิษหรือสารที่เป็นส่วนเกินของร่างกายออกไป การดูดซึมน้ำกลับเข้าร่างกายทำให้สารที่ต้องการขับออกมีความเข้มข้นมากขึ้น หากร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือไม่สมดุล จะทำให้ “ไต” ต้องทำงานหนักมากขึ้น รับสารพิษต่างๆ ที่ต้องผ่านไตมากขึ้น มีโอกาสทำให้ไตเกิดการเสื่อมเร็วกว่าปกติ และมีผลทำให้เสียชีวิตเนื่องจาก “ภาวะไตวาย” ได้ และหน้าที่อีกอย่างของไต คือ ทำหน้าที่ผลิต “ฮอร์โมน” ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการสร้างเม็ดเลือด
 
       วิธีการสังเกตสุนัขว่าอาจจะเป็นแนวโน้มเป็นโรคไต
    “โรคไต” เป็นโรคที่ทำการวินิจฉัยได้ยาก เมื่อดูจากอาการภายนอกเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไตมักสูญเสียการทำงานมากกว่า 75 % แล้วจึงจะแสดงอาการต่างๆ ออกมา นอกจากนั้นยังมีความกี่ยวข้องกับอวัยวะอีกหลายระบบ อาจทำให้มีอาการที่แสดงออกมาหลากหลายได้ ซึ่งสังเกตได้ ดังนี้
  • กระหายน้ำมากขึ้น และปัสสาวะมากขึ้น
  • ความอยากอาหารลดลง
  • น้ำหนักลด
  • เชื่องช้า และใช้เวลาในการนอนมากขึ้น
  • มีกลื่นปากเหม็น
  • ร่างกายอ่อนแอ
  • เป็นแผลในช่องปาก อาเจียน และท้องเสีย

       ความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เช่น มีก้อนนิ่วอุดตันในท่อปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไม่ออก เกิดการคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะเป็นระยะเวลานาน มีผลทำให้สารพิษที่ควรขับออกไปพร้อมกับปัสสาวะเกิดการดูดซึมกลับขึ้นไปทำลายไต หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างก็มีโอกาสทำให้เชื้อโรคกระจายขึ้นไปยังส่วนไตได้     

       ภาวะแทรกซ้อนของโรคไต
   เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นโรคไตภาวะเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดเลยก็ได้ ภาวะที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้
  • ภาวะร่างกายเป็นกรดมากกว่าปกติ ไตทำหน้าที่ปรับสมดุลความเป็นกรด- ด่างให้ร่างกาย เมื่อไต เกิดความเสียหาย ความสามารถในการขับกรดทิ้งจะลดลง เมื่อกรดในเลือดสูงขึ้น สัตว์จะซึม เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียน และอาจทำให้สัตว์ถึงกับชีวิตได้
  • ภาวะความดันโลหิตสูง มักจะแตกต่างจากในคนที่ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง สาเหตุมักเกิดจาก ภาวะคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย รวมทั้งภาวะที่ไตถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมน angiotensin ออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้มีความดันเลือดสูงขึ้น หากปล่อยภาวะนี้ไว้นานๆ ไตเสียหายเร็วขึ้น หาก ความดันโลหิตสูงมากๆ จะทำให้เกิดเลือดออกในจอตา สัตว์ อาจตาบอดได้ ในที่สุด
  • ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากไตทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน erythropoietin ไปกระตุ้นไขกระดูกให้ สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเป็นโรคไต ฮอร์โมนจะถูกสร้างลดลง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
  • ภาวะกระดูกพรุน เกิดจากการคั่งของ ฟอสฟอรัส ในเลือด เนื่องจากไตขับทิ้งไม่ได้  เพื่อรักษาความสมดุลของ แคลเซียม และฟอสฟอรัสในร่างกาย จึงไปดึงเอาแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมในเลือด จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน
  • ภาวะของเสียคั่งในเลือด หรือที่เรียกว่า “ยูเรีย” ของเสียเหล่านี้มีความเป็นกรดสูง จึงไปรบกวนระบบเมตาบอลิซึม ต่างๆ ของร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดภาวะอาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นเลือดสีดำ และถ้าเกิดการคั่งมากๆ จะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทจนทำให้เกิดอาการชัก ภาวะนี้เราเรียกว่า “uremia” เมื่อสัตว์เกิดภาวะนี้ขึ้น จำเป็นที่จะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
 
     การรักษาโรคไต
          การรักษาโรคไตวายเรื้อรังนั้นสามารถทำได้โดยการผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่เนื่องจากมีข้อจำกัด ค่อนข้างมาก ต้องหาผู้บริจาคเนื้อเยื่อไตที่สามารถเข้ากันได้ ค่าใช้จ่ายสูง ในเมืองไทยยังไม่ได้นำวิธีนี้เข้ามา ใช้ในการรักษา เนื่องจากการผ่าตัดมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ในแมวมักได้ผลดีกว่าสุนัข
          ดังนั้น โดยทั่วไปการรักษาไตวายเรื้อรัง มักรักษาตามอาการเป็นหลักและสามารถช่วยยืดชีวิตได้นาน
นับเป็นเดือนหรือปี
          ต่างจากในรายที่เป็นภาวะไตวายเฉียบพลัน จะรุนแรงมากกว่าถ้าไม่สามารถแก้ไขอย่างทันเวลา การรักษาสามารถทำการฟอกไต เช่นเดียวกับในมนุษย์  แต่มีข้อจำกัดที่การฟอกไตสำหรับสัตว์ในเมืองไทย จะใช้กับสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 10 กิโลกรัม ไม่นิยมใช้ในแมว หรือสุนัขที่มีน้ำหนักตัวน้อยๆ และใช้รักษาเฉพาะภาวะไตวายเฉียบพลัน มากกว่าเรื้อรัง
          ดังนั้นการวินิจฉัยที่รวดเร็ว การรักษา และการพยากรณ์โรคที่ดีจะสามารถช่วยชะลอการพัฒนาของโรค และช่วยยืดอายุของสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข
 
     ข้อควรจำ อาการเตือนอย่างแรกของการเกิดไตวาย  คือ ความกระหายน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงของคุณดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือสังเกตเห็นอาการต่างๆ ที่กล่าวไว้ ควรรีบพาสุนัขของคุณไปพบแพทย์ทันที 



Leave a Reply.