Picture
     ปัจจุบันนี้เจ้าของสัตว์เริ่มมีความสงสัยกันมาก ว่าเหตุใดสุนัขจึงมีแนวโน้มเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น เกิดอะไรกับสัตว์เลี้ยงของเรา 

     จากข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่โจษจันท์ถึงอาหารหลายๆ ยี่ห้อที่ทำให้เกิดภาวะตับ หรือไตล้มเหลว อาจทำให้เจ้าของสัตว์หลายคนทึกทักเอาว่าอาหารสำเร็จรูป เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สัตว์เกิดโรคไต 

     แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคไตเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงด้วยกัน เช่น สัตว์ที่มีอายุมาก สุนัขบางพันธุ์ที่มีแนวโน้มการเกิดความผิดปกติของไตตั้งแต่กำเนิด เช่น ชิสุ ชเนาส์เซอร์ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น สัตว์กินน้ำน้อย ชอบเลียพื้นที่มีสารเคมี กินน้ำในกระถางต้นไม้ที่ใส่ปุ๋ย อาศัยอยู่ในบริเวณที่ใช้ยาฆ่าแมลง และสารที่เป็นพิษต่อไต เป็นต้น

     ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมีความเชื่อว่า เหตุที่สัตว์เลี้ยงของเราตรวจพบการเป็นโรคไตมากขึ้น คงเป็นเพราะในปัจจุบันคนไทยเราเริ่มเอาใจใส่สุขภาพสัตว์เลี้ยงมากกว่าแต่ก่อน นำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ทำหมัน รวมทั้งตรวจเลือดเช็คสุขภาพมากขึ้น จึงทำให้สัตวแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยหาโรคได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น

     โรคไตวายเรื้อรังเป็นหนึ่งในโรคของระบบทางเดินปัสสาวะที่พบได้มากที่สุด โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอายุมาก เพราะไตทำหน้าที่กรองเอาของเสียออกจากกระแสโลหิต รักษาสมดุลของสารน้ำ และแร่ธาตุในร่างกาย รวมถึงทำหน้าที่คล้ายต่อมไร้ท่อ ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมความดันเลือด และสร้างเม็ดเลือดแดงในร่างกายอีกด้วย 

     สัตว์มีไตสองข้างเช่นเดียวกับมนุษย์ โดยแต่ละข้างประกอบด้วยหน่วยไตเล็กๆ นับเป็นแสนๆ หน่วย เมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น หน่วยไตจะค่อยๆ เสื่อม และลดปริมาณลงตามกาลเวลา หน่วยไตที่เสียหายแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้ใหม่ ส่วนที่ยังเหลืออยู่ จะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อทำหน้าที่ชดเชยหน่วยไตที่เสียไปแล้ว 

     โดยปกติแล้วหากหน่วยไตเสียหายไม่เกิน 75 เปอร์เซนต์ ไตส่วนที่เหลือยังสามารถทำงานชดเชยได้ ทำให้ระดับของ ครีเอตินีน(Creatinine) และ ยูเรีย (Urea) ในกระแสเลือด ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกการทำงานของไต ยังไม่พบความผิดปกติ 

     แต่เมื่อหน่วยไตเกิดความเสียหายเกิน 75 เปอร์เซนต์ แล้ว จึงเกิดภาวะไตวายขึ้น เมื่อตรวจเลือดและปัสสาวะก็จะพบความผิดปกติได้

     อาการที่พบในสัตว์ป่วยไตวายเรื้อรัง คือ ซึม ความอยากอาหารลดลง กินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ ชอบปัสสาวะตอนกลางคืน ขนแห้งหยาบ น้ำหนักลดลง ช่องปากอักเสบเป็นแผล มีกลิ่นปากรุนแรง

     แต่บางตัวอาจไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็น ทำให้เจ้าของมักมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป กว่าจะพามาพบสัตวแพทย์อาการก็รุนแรงมากแล้ว เช่น อาเจียน ถ่ายเป็นเลือดดำ หมดแรง ไม่ยอมใช้สองขาหลัง ชักกระตุก

ภาวะของโรคไตอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกันคือ

   ระยะที่ 1. ภาวะที่ไตเสียหายมากกว่า 67 เปอร์เซนต์ ระยะนี้เราจะเรียกสัตว์ว่าเป็นโรคไต (renal insuficeincy) แต่ยังไม่ถือว่าเป็นไตวายเรื้อรัง สัตว์จะไม่แสดงความผิดปกติใดๆ ให้เห็น อาจแสดงอาการกินน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะ ชอบปัสสาวะตอนกลางคืน การตรวจเช็คเลือดค่า ครีเอตินีน (Creatinine) และ ยูเรีย (Urea) จะไม่พบความผิดปกติ แต่หากทำการตรวจปัสสาวะจะพบว่า ความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าปกติ รวมทั้งมักตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ ดังนั้นหากสัตว์เลี้ยงของเรามีอายุมากกว่า 6 ปี จึงควรตรวจปัสสาวะร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย

     หากพบว่าสัตว์อยู่ในระยะนี้ เราสามารถช่วยชะลอความเสียหายของไตให้ช้าลงได้ ด้วยการให้อาหารที่มีการจำกัดโปรตีน และฟอสฟอรัส ซึ่งมีจำหน่ายในรูปแบบของอาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์อายุมาก เช่น อาหารโรคไต หรืออาหารโรคหัวใจ เป็นต้น

   ระยะที่ 2. ภาวะที่ไตเสียหายมากกว่า 75 เปอร์เซนต์ ระยะนี้จึงเรียกว่าเป็นไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) สัตว์บางตัวอาจไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็นชัดเจน แต่หากตรวจเลือดวัดระดับการทำงานของไต ครีเอตินีน (Creatinine) และ ระดับยูเรีย (Urea) ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณของเสียที่มีอยู่ในเลือด พร้อมกับตรวจปัสสาวะจะพบความผิดปกติ ความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับความสามารถของไตในการขับเอาของเสียออก หากเกิดการคั่งในเลือดจนเกินระดับความทนทานของสัตว์ สัตว์จะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด อาเจียน และมีถ่ายเหลว

   ระยะที่ 3. ระยะสุดท้าย (end stage) อาการจะรุนแรงมากขึ้น อาเจียนบ่อยครั้ง ถ่ายเหลวดำคล้ำ กลิ่นปากจะคล้ายกับกลิ่นของปัสสาวะ มีแผลหลุมในปาก กินอาหารไม่ได้ หมดแรง บางตัวหากเกิดการคั่งของ ของเสีย ในเลือดมากๆ จะเกิดอาการชัก ทุรนทุราย หมดสติ และ เสียชีวิตในที่สุด

     ดังที่ได้กล่าวไว้ในช่วงแรก ไตทำหน้าที่หลายอย่างด้วยกัน เมื่อไตเสียหายจนร่างกายไม่สามารถชดเชยได้ จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ตามมา คือภาวะแทรกซ้อนของโรคไต ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดเลยก็ได้ ภาวะที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้

   1. ภาวะร่างกายเป็นกรดมากกว่าปกติ ไตทำหน้าที่ปรับสมดุลความเป็นกรด- ด่างให้ร่างกาย เมื่อไตเกิดความเสียหาย ความสามารถในการขับกรดทิ้งจะลดลง เมื่อกรดในเลือดสูงขึ้น สัตว์จะซึม เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาเจียน และอาจทำให้สัตว์ถึงกับชีวิตได้ การรักษาในขั้นนี้สัตว์ต้องได้รับการตรวจ สถานะความสมดุลอิเล็คโตรไลต์ต่างๆในร่างกาย (blood gas) เพื่อให้ทราบถึงความรุนแรงของอาการ สัตว์ป่วยต้องอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ เพื่อปรับสมดุล กรด- ด่าง และอิเล็คโตรไลต์ต่างๆ ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อร่างกายเริ่มปรับสภาพได้ดีขึ้นแล้ว การให้อาหารที่จำกัดโปรตีน และฟอสฟอรัส รวมทั้งมีสารโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือโปแตสเซียมซิเตรท จะช่วยปรับสมดุลย์ให้ร่างกายเกิดกรดเกินน้อยลง 

   2. ภาวะความดันโลหิตสูง ในสุนัข และแมว มักจะแตกต่างจากในคน เพราะภาวะนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง (แต่จะพบได้ 65 – 70 เปอร์เซนต์ ของสัตว์ป่วยไตวายเรื้อรัง) สาเหตุมักเกิดจากภาวะคั่งของเกลือโซเดียมในร่างกาย รวมทั้งภาวะที่ไตถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมน angiotensin ออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้มีความดันเลือดสูงขึ้น หากปล่อยภาวะนี้ไว้นานๆ ไตจะต้องทำงานมากกว่าปกติ และเสียหายเร็วขึ้น หากความดันโลหิตสูงมากๆ จะทำให้เกิดเลือดออกในจอตา สัตว์อาจตาบอดได้ ในที่สุด

     สัตว์ป่วยไตวายเรื้อรังควรได้รับตรวจวัดความดันเลือดเป็นประจำทุก 3 เดือน หากมีความดันสูงมาก จะต้องตรวจตาเพื่อดูความผิดปกติด้วยทุกครั้ง การรักษาสัตว์จะได้รับยาลดความดันเลือด และจำกัดอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่นในอาหารที่มีรสเค็ม อาหารทะเล เป็นต้น

   3. ภาวะโลหิตจาง เนื่องจากไตทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน erythropoietin ไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเป็นโรคไต ฮอร์โมนจะถูกสร้างลดลง จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางขึ้น การรักษานั้นจะต้องทำการฉีดฮอร์โมน erythropoietin ชดเชยให้สัตว์ที่มี ระดับของเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 25เปอร์เซนต์ การฉีดฮอร์โมนต้องทำหลายครั้งต่อสัปดาห์ และอาจฉีดเป็นเวลานานหลายเดือน ขึ้นกับการตอบสนองของสัตว์ การเสริมยาบำรุงเลือดร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้การฉีดฮอร์โมนนี้ได้ผล 
ฮอร์โมนสำหรับฉีดผู้ป่วยโลหิตจางมีราคาสูงมาก สัตว์ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากทีเดียว

   4. ภาวะกระดูกพรุน เกิดจากการคั่งของ ฟอสฟอรัส ในเลือด เนื่องจากไตขับทิ้งไม่ได้ พาราไทรอยด์ฮอร์โมนจึงถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมา เพื่อรักษาความสมดุลของ แคลเซียม และฟอสฟอรัสในร่างกาย โดยตัวฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะก่อความเป็นพิษกับเนื้อเยื่อของไต นอกจากนั้นยังไปดึงเอาแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมในเลือด จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน เมื่อสัตว์โดนแรงกระทบกระแทกเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้กระดูกเกิดการร้าว หักได้

     การรักษา สัตว์จะต้องได้รับการแก้ไขภาวะฟอสฟอรัสในเลือดสูง ด้วยการให้ยาจับฟอสฟอรัสในอาหาร และจำกัดอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ซึ่งได้แก่ เครื่องในสัตว์ และเนื้อสัตว์ ปัจจุบันมีอาหารสำเร็จรูปที่ทำขึ้นมาเฉพาะสำหรับสัตว์ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยมีการจำกัดโปรตีน และฟอสฟอรัส รวมทั้งเสริมวิตามิน แร่ธาตุ และช่วยปรับสมดุลความเป็นกรด- ด่างแก่ ร่างกายอีกด้วย เมื่อภาวะฟอสฟอรัสในเลือดปกติ จึงทำการเสริม calcitriol เพื่อเพิ่มการดูดซึมของแคลเซียมในลำไส้ และลดการหลั่งของพาราไทรอยด์ฮอร์โมน 

   5. ภาวะของเสียคั่งในเลือด ยูเรีย เป็นผลจากการเผาผลาญโปรตีนในร่างกาย เมื่อไตขับของเสียได้ลดลง จะเกิดการสะสมของสารยูเรียในเลือด บางครั้งเราสามารถได้กลิ่นของเสียคล้ายปัสสาวะออกมาจากปาก และลมหายใจของสัตว์ป่วยได้ ของเสียเหล่านี้มีความเป็นกรดสูง จึงไปรบกวนระบบเมตาบอลิซึมต่างๆ ของร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดภาวะอาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นเลือดสีดำ และถ้าเกิดการคั่งมากๆ จะไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทจนทำให้เกิดอาการชักได้ ภาวะนี้เราเรียกว่า uremia เมื่อสัตว์เกิดภาวะนี้ขึ้น จำเป็นที่จะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

     การรักษาโรคไตวายเรื้อรังนั้นสามารถทำได้ ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ต้องหาผู้บริจาคเนื้อเยื่อไตที่สามารถเข้ากันได้ ค่าใช้จ่ายสูง ในเมืองไทยยังไม่ได้นำวิธีนี้เข้ามาใช้ในการรักษา เนื่องจากการผ่าตัดมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ในแมวมักได้ผลดีกว่าสุนัข นอกจากนี้ยังสามารถรักษาด้วยการฟอกไต เช่นเดียวกับในมนุษย์ การฟอกไตสำหรับสัตว์ในเมืองไทย จะใช้กับสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 10 กิโลกรัม ไม่นิยมใช้ในแมว หรือสุนัขที่มีน้ำหนักตัวน้อยๆ และใช้รักษาเฉพาะภาวะไตวายเฉียบพลันมากกว่า ส่วนการรักษาไตวายเรื้อรัง มักรักษาตามอาการเป็นหลัก

     ในการรักษาภาวะไตวายเรื้อรังนั้น เจ้าของควรทำความเข้าใจเสียก่อนว่า โรคนี้เป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกเสียจากจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนไต 

     การรักษาจะมุ่งเน้นที่จะชะลอความเสียหายของไตส่วนที่เหลือ เพื่อยืดอายุสัตว์ให้สามารถมีชีวิตอยู่กับเจ้าของได้นานขึ้น การรักษาต้องอาศัยการสละเวลาและได้รับความร่วมมือจากเจ้าของเป็นอย่างมาก ค่าใช้จ่ายในการดูแลจะเพิ่มมากขึ้น หากสัตว์เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น 


การดูแลสัตว์ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรัง

   1. โภชนบำบัด หรือการรักษาด้วยการใช้อาหาร เพื่อให้สัตว์ป่วยได้รับสารอาหารและพลังงานที่ครบถ้วน อาหารจะช่วยในการปรับสมดุลของน้ำ เกลือแร่ วิตามินและความเป็นกรด - ด่างของร่างกาย ลดอาการที่เกิดจากภาวะของเสียคั่งในเลือด (uremia) และชะลอความเสียหายของไตให้เกิดช้าลง 

     อาหารโรคไตส่วนใหญ่เป็นอาหารสำเร็จรูป มีทั้งชนิดเม็ด และกระป๋อง ซึ่งมีปริมาณโปรตีนอยู่ในระดับต่ำกว่าอาหารปกติ เพื่อลดการสร้างของเสียในเลือด มีผลควบคุมทำให้สัตว์ไม่แสดงอาการผิดปกติ 

     ในอาหารรักษาอาการโรคไตยังมีระดับของ ฟอสฟอรัส โซเดียม แมกนีเซียม และไฮโดรเจนต่ำกว่าในอาหารทั่วไปรวมทั้งยังเสริมเกลือแร่ เช่น โปแตสเซียม, วิตามิน และอิเล็คโตรไลท์ เช่น แคลเซียม สูงกว่าในอาหารปกติ เพื่อชดเชยการสูญเสียจากการที่ไตไม่สามารถดูดสารเหล่านี้กลับไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังใส่โซเดียมไบคาร์บอเนต และโปแตสเซียมซิเตรท เพื่อปรับสมดุลร่างกายให้มีภาวะเป็นกรดลดลง 

     จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า สัตว์ป่วยที่จำกัดโปรตีน และฟอสฟอรัส จะมีอายุยืนยาวขึ้นเป็น 2.4 เท่าของสัตว์ที่ไม่ได้ควบคุมอาหารเลย 

     อย่างไรก็ตามมีสัตว์ป่วยจำนวนมากที่ไม่ยอมกินอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากมีความเบื่ออาหาร การปรุงอาหารให้ร้อน อุ่นอาหารให้มีกลิ่นหอม จะช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร หรือการปั่นอาหารให้เหลว เพื่อให้สามารถป้อนด้วยไซริงค์ได้ และทำให้สัตว์ได้รับสารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเต็มที่ 

   2. การใช้สารน้ำในการรักษา หรือการให้น้ำเกลือแก่สัตว์ที่เริ่มแห้งน้ำ (dehydration) เนื่องจากสัตว์มักเกิดความเบื่ออาหาร และไม่กินน้ำ รวมทั้งจากภาวะที่ไตดูดกลับแร่ธาตุต่างๆ จากท่อไตได้ลดลง สัตว์จะแสดงอาการ ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น เยื่อเมือกแห้ง ลูกตาจมลึกเข้าไปในเบ้าตา หากปล่อยภาวะแห้งน้ำไว้นานๆ จะทำให้ไตเกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น และเกิดการคั่งของเสียในเลือดตามมาได้ 


     ในกรณีที่สัตว์ปวยที่ได้รับการประเมินจากสัตวแพทย์แล้ว ว่าสามารถรับกลับไปอยู่ในความดูแลของเจ้าของได้ จะแนะนำให้เจ้าของให้น้ำเกลือสัตว์ป่วยเข้าใต้ผิวหนังเองที่บ้าน ชนิดของน้ำเกลือที่ให้มักจะเป็น Lactate ringer หรือ Acetar 

     น้ำเกลือที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลผสมอยู่ด้วยจะใช้ไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง อักเสบ ปริมาณการให้ในแต่ละตัวจะแตกต่างกัน ขึ้นกับน้ำหนักตัวของสัตว์ และระดับความแห้งน้ำ ความถี่ของการให้น้ำเกลือจะขึ้นกับระดับของ ครีเอตินีน(creatinine) และ ยูเรีย (Urea) 

     การให้น้ำเกลือปริมาณมากไป อาจมีผลทำให้สัตว์เกิดภาวะน้ำท่วมปอด และหากให้น้ำเกลือบ่อยๆ ก็จะพบผิวหนังอักเสบ ขนเปลี่ยนสีได้ ดังนั้นเมื่อพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ตามนัดหมาย ควรทำการวัด และประเมินการกินน้ำและอาหาร รวมทั้งปริมาณปัสสาวะแต่ละวันเพื่อแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบ หากสัตว์สามารถกินน้ำได้อย่างเพียงพอกับปริมาณที่สูญเสียไป อาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำเกลือเลยถ้าค่าไตสูงกว่าปกติเล็กน้อย 

   3. สัตว์ที่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โลหิตจาง ความดันโลหิตสูง หรือของเสียคั่งในเลือด จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแล และสังเกตอาการมากเป็นพิเศษ โดยควรมาพบสัตวแพทย์ตามนัดหมายด้วยทุกครั้ง

     สัตว์ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นสุนัขอื่นๆ เพียงจะมีข้อจำกัดเรื่องอาหารและการดูแลจากเจ้าของเพิ่มมากขึ้น หากดูแลสัตว์เลี้ยงได้ตามที่สัตวแพทย์แนะนำ สัตว์จะสามารถมีอายุยืนยาวขึ้นได้ 6 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นกับระยะของโรคที่เป็น การดูแลไม่ใช่เรื่องยาก หากท่านใส่ใจ และมีความพยายาม 

     การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา หากสัตว์เลี้ยงเริ่มมีอายุมากขึ้น ควรทำการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย การตรวจเลือด และปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยให้สัตวแพทย์วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น 

     การรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ชะลอความเสียหายของไต และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต




Leave a Reply.