Picture
       คุณรู้หรือไม่? สิ่งที่ควรและไม่ควรทำ เมื่อเรานำลูกสุนัขใหม่เข้ามาในบ้าน เพื่อให้คุณได้มีข้อสังเกตและระมัดระวังกับลูกสุนัข 

   การเปลี่ยนมือผู้เลี้ยงจากเจ้าของสุนัขเดิม มาเป็นเจ้าของสุนัขคนใหม่ มีสิ่งที่ควรและไม่ควรทำอย่างยิ่ง ดังต่อไปนี้

1. การอาบน้ำลูกสุนัข
       หลายๆ คนมักจะคิดว่า ลูกสุนัขมาจากที่อื่นจะตัวสกปรก มอมแมม และมักจะอาบน้ำให้ในทันทีที่ลูกสุนัขถึงที่บ้าน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่งค่ะ ทั้งนี้เนื่องจากประการแรก ลูกสุนัขยังอายุน้อย โอกาสของการป่วยจากการติดเชื้อในระบบต่างๆ เกิดได้ค่อนข้างง่าย ประการที่สอง การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร

       ดังนั้น คุณต้องหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในร่างกายโดยฉับพลัน และรอจนลูกสุนัขมีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป จึงค่อยอาบน้ำ หรือในรายที่รู้สึกว่าลูกสุนัขตัวสกปรก เลอะเทอะจริงๆ สามารถเช็ดตัวแทนการอาบน้ำได้

       เมื่อลูกสุนัขถึงวัยที่สามารถอาบน้ำได้แล้วนั้น ให้อาบน้ำให้สุนัขทุกๆ 1-2 อาทิตย์ ต่อครั้ง โดยการเจือจางแชมพูสำหรับสุนัขลงในภาชนะก่อน ห้ามบีบโดยตรงที่ตัวลูกสุนัข และต้องใช้แชมพูของสุนัขเท่านั้น ห้ามใช้แชมพูสระผมของคนนะคะ เนื่องจากสภาพความเป็นกรด-ด่างของสุนัขและคน ต่างกันโดยสิ้นเชิง 

2. การเปลี่ยนชนิด หรือยี่ห้อของอาหาร
       เป็นเรื่องต่อมาที่ควรจะหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาหารแต่ละยี่ห้อมีสัดส่วนและองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป การเปลี่ยนในทันทีจะมีผลต่อสมดุลของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ลูกสุนัขเกิดภาวะถ่ายเหลว ไปจนกระทั่งถึงท้องเสียได้เลย ซึ่งรวมไปถึงการให้นมที่เป็นนมสำหรับเด็กทารก นมยูเอชที นมเสตอร์ริไรส์ นมพาสเจอร์ไรส์ต่างๆ ด้วย เนื่องจากนมสำหรับคนจะมีองค์ประกอบที่ต่างกันกับนมของสุนัข

       กรณีที่คุณรับลูกสุนัขที่หย่านมแม่มาเรียบร้อยแล้ว (ลูกสุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 45 วันขึ้นไป) สามารถงดนมได้เลย ไม่จำเป็นต้องให้ต่อ ส่วนอาหารหากต้องการจะปรับเปลี่ยนยี่ห้อ ให้ใช้วิธีค่อยๆ เพิ่มปริมาณยี่ห้อใหม่เข้าไปทดแทนอาหารยี่ห้อเดิมที่ใช้อยู่ จนกระทั่งเป็นอาหารยี่ห้อใหม่เลย 100 เปอร์เซ็นต์ค่ะ และคุณสามารถใช้อาหารเม็ดแช่ในน้ำร้อน เพื่อให้อาหารนิ่มลงและง่ายต่อการกินของลูกสุนัขบางพันธุ์ เช่นลูกสุนัขในกลุ่มทอย อาทิ ยอร์คเชีย เทอร์เรีย ชิทสุ พุดเดิ้ลทอย ปอมเมอราเนี่ยน โดยคุณสามารถแบ่งความถี่ในการให้อาหารลูกสุนัขเป็น 2-3 มื้อ ต่อวัน หรือตามแต่สะดวก ไปจนกระทั่งลูกสุนัขอายุได้ 6-7 เดือน ค่อยเปลี่ยนเป็นวันละ 2มื้อก็ได้ โดยเลือกใช้อาหารตามสูตรของสุนัขในแต่ละวัย และลักษณะกลุ่มที่ลูกสุนัขเป็นอยู่ ว่าเป็นลูกสุนัขพันธุ์เล็กหรือพันธุ์ใหญ่

3. เอกสารประวัติลูกสุนัข
       ก่อนการตัดสินใจรับลูกสุนัขมาจากเจ้าของเดิม แนะนำให้คุณขอเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกสุนัขดังต่อไปนี้ให้เรียบร้อย

   1) ใบประวัติพันธุ์ของลูกสุนัข
       ซึ่งในใบประวัติพันธุ์นี้จะเป็นตัวบอกคุณถึงชื่อของพ่อ แม่ และรวมไปถึงปู่ ย่า ตา ยาย ของลูกสุนัขด้วย ขณะเดียวกันก็จะบอกถึงวัน เดือน ปีเกิด ทำให้คุณทราบถึงอายุที่แท้จริง ไม่ใช่การประเมินคร่าวๆ ของอายุ

   2) ใบประวัติวัคซีน
       คุณสามารถแจ้งให้กับทางเจ้าของเดิมเตรียมเอกสารเหล่านี้ให้พร้อมก่อน แล้วจึงค่อยรับตัวลูกสุนัขและเอกสารมาพร้อมกัน อย่ารีรอ เพราะโดยมากเมื่อเรารับลูกสุนัขมาแล้ว การไปถามหาเอกสารในภายหลังจะทำได้ค่อนข้างยากมาก และมักจะไม่ได้เอกสารต่างๆ เหล่านี้มา ทำให้ยุ่งยากและอาจต้องเริ่มต้นวางโปรแกรมการทำวัคซีนนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

4. การกระตุ้นวัคซีน
       ห้ามรีบกระตุ้นวัคซีนในทันทีที่รับลูกสุนัขมา ให้รอจนกระทั่งลูกสุนัขปรับตัวเข้ากับสถานที่และเจ้าของใหม่ให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งโดยมากจะแนะนำให้รออย่างน้อย 1สัปดาห์ภายหลังการนำลูกสุนัขมา แล้วจึงค่อยทำวัคซีน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประวัติการทำวัคซีนก่อนหน้านี้ในลูกสุนัขแต่ละตัวด้วย

       การกระตุ้นวัคซีนในแต่ละเข็มควรจะห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่จะมีการกระตุ้นที่ 2-3 ครั้งขึ้นไป เพื่อให้ภูมิคุ้มกันโรคนั้นๆ อยู่ในระดับมาตรฐานที่รับได้ วัคซีนที่ทำมักจะเริ่มต้นด้วยวัคซีนลำไส้อักเสบและไข้หัด เป็นเข็มที่หนึ่ง และให้เจ้าของลูกสุนัขทำการถ่ายพยาธิในทางดินอาหารไปด้วยพร้อมๆ กัน ทุกครั้งที่พาลูกสุนัขเข้ามากระตุ้นวัคซีนที่คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ 

5. แยกสุนัขออกจากฝูง
       คุณควรแยกเลี้ยงลูกสุนัขตัวใหม่ออกมาจากฝูงสุนัขเดิมอย่างน้อย 1-2 อาทิตย์ เพื่อคอยเฝ้าระวัง เนื่องจากอาจมีการนำโรคจากลูกสุนัขตัวใหม่ไปสู่สุนัขที่เลี้ยงอยู่เดิมได้ และในช่วงนี้แนะนำให้เจ้าของสุนัขนำลูกสุนัขมา เพื่อทำการตรวจเช็คสุขภาพด้วยค่ะ

6. สังเกตอาการ
       สิ่งสุดท้ายคือภายหลังการนำลูกสุนัขกลับมาบ้านแล้ว ให้สังเกตลักษณะของปัสสาวะหรืออุจจาระ หน้าตา น้ำมูก ตามีขี้ตาไหม มีน้ำตาไหลตลอดเวลาหรือไม่ ใบหูมีขี้หูไหม บริเวณช่องทวารหนักมีคราบอุจจาระติดอยู่หรือไม่ ผิวหนังตามตัวเป็นอย่างไร มีเห็บ หมัด หรือตุ่มอะไรขึ้นตามตัวหรือไม่ มีขนร่วงเป็นหย่อมๆ ที่บริเวณใดของตัวหรือเปล่า และโรคที่ต้องระวัง ได้แก่ ไรในหู ขี้เรื้อน พยาธิในเม็ดเลือด ลำไส้อักเสบ ไข้หัดสุนัข โรคระบบทางเดินหายใจ โรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งในคราวหน้าเราจะมาพูดถึงโรคเหล่านี้กันว่ามีความสำคัญในลูกสุนัขของเราอย่างไร



Leave a Reply.